28 January 2009

สถานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนเมื่อมีการยุบพรรคการเมือง


สถานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนเมื่อมีการยุบพรรคการเมือง

การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการปกครองที่ใช้รูปแบบการปกครองระบบผู้แทนราษฎรเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้แทนราษฎรกับประชาชน การใช้อำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ในระบอบประชาธิปไตยนั้นผู้ที่เข้าสู่อำนาจทั้งสองประเภทดังกล่าวจะต้องมีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชน เนื่องจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยึดถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ปัจเจกชนแต่ละคนได้รวมตัวกันเป็นสังคมและถือว่าแต่ละคนต่างเป็นผู้ทรงสิทธิส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ด้วยเหตุฉะนี้ปัจเจกชนแต่ละคนจึงเป็นเจ้าของสิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวนโยบายสาธารณะ[1] ดังนั้นไม่ว่าประชาชนคนใดคนหนึ่งนั้นจะยากดีมีจนหรือขาดไร้ซึ่งการศึกษาเพียงใด หากเพียงแต่เป็นประชาชนของประเทศนั้นแล้ว สิทธิในการลงคะแนนเสียงของเขาก็จะเท่ากับประชาชนคนอื่น ๆ ในประเทศนั้นเช่นกัน สิทธิในการลงคะแนนเสียงของพลเมืองไทยสามารถแสดงออกในการเลือกตั้งทั่วไปได้สองประเภท กล่าวคือ การเลือกผู้แทนราษฎรประเภทแบ่งเขตเลือกตั้งและการเลือกบัญชีรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ประเภทสัดส่วน (บัญชีรายชื่อ) ปรากฎครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
(ฉบับประชาชน
) โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 98 ได้กำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบผสมระหว่างการเลือกตั้งระบบสัดส่วนตามบัญชีรายชื่อของพรรคและการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต การปรับปรุงระบบการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งแบบผสมนี้ได้นำตัวอย่างมาจากประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่น[2] โดยมุ่งหมายให้การเลือกตั้ง ส.ส. มีทั้งจากประชาชนซึ่งเป็นคนในพื้นที่มีความใกล้ชิดกับคนในท้องถิ่นและจากประชาชนทั้งประเทศที่แสดงถึงความต้องการของชาติโดยรวม[3] อนึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 96 (1) ได้กำหนดให้ส.ส.แบบสัดส่วนมาจากแปดกลุ่มจังหวัด กล่าวคือมีจำนวนส.ส.สัดส่วนแปดบัญชีตามกลุ่มจังหวัด ส.ส.แต่ละบัญชีจึงสะท้อนความต้องการของกลุ่มจังหวัด แต่โดยเนื้อหาแล้วรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวยังคงใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมเหมือนกัน นอกจากนั้นในประเทศที่มีการเลือกตั้งระบบสัดส่วน เช่น เยอรมันและญี่ปุ่น ต่างก็ไม่ได้ใช้เขตประเทศเป็นเลือกตั้งเดียว หากแต่แบ่งเป็นหลายเขตเช่นเดียวกับประเทศไทยในปัจจุบัน[4] ดังนั้นการวิเคราะห์สถานะของส.ส.สัดส่วนต่อไปนี้จะยึดเจตนารมณ์ทั่วไปของระบบ ส.ส.สัดส่วน

เมื่อพิจารณาเหตุผลที่จัดให้มี ส.ส.ประเภทสัดส่วนนั้นจะพบว่ามีเจตนาเพื่อส่งเสริมพรรคการเมืองโดยมุ่งให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งโดยพิจารณาจากนโยบายพรรคเป็นหลัก[5] มิใช่พิจารณาคุณสมบัติของบุคคลผู้อยู่ในบัญชีเป็นหลัก อันจะเห็นได้จากการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเลือกบุคคลในบัญชีเป็นคน ๆ ได้ ต้องเลือกทั้งบัญชีพรรคการเมืองบัญชีใดบัญชีหนึ่งเท่านั้น การจัดให้มีส.ส.ประเภทสัดส่วนนี้ยังเป็นการเสนอช่องทางเข้าสู่การเมืองของ นักการเมืองหน้าใหม่ที่มีความรู้ความสามารถแต่หาเสียงไม่เก่ง อีกทั้งเป็นทางเลือกที่พรรคการเมืองจะบรรจุหัวหน้าพรรคและผู้ที่คาดว่าจะเป็นรัฐมนตรีลงในบัญชีรายชื่อของพรรคให้ประชาชนพิจารณาก่อน ซึ่งกรณีนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. และกำหนดให้สถานะรัฐมนตรีกับสถานะส.ส.แยกออกจากกัน เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) แล้วจะดำรงตำแหน่ง ส.ส. (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ในขณะเดียวกันไม่ได้เนื่องจากเป็นการขัดแย้งกันระหว่างอำนาจสองฝ่าย ดังนั้นเมื่อนำส.ส.สัดส่วนมาร่วมคณะรัฐมนตรี ผู้ที่มีชื่อลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อก็จะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน ไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมดังกรณีการนำส.ส.ประเภทแบ่งเขตเลือกตั้งมาเป็นรัฐมนตรี การจัดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งจึงนิยมนำผู้ที่พรรคคาดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไปบรรจุในบัญชีรายชื่อ ดังนี้เมื่อถึงคราวเลือกตั้งประชาชนจึงมิเพียงแต่เลือกผู้แทนราษฎรที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติเท่านั้น ประชาชนยังมีโอกาสที่จะเลือกผู้ที่คาดว่าจะอยู่ในคณะรัฐมนตรีอีกด้วย เพราะฉะนั้นหากจะกล่าวว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ระบบสัดส่วนนั้นเป็นการที่ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ก็คงไม่ผิดนัก[6]

นอกจากคุณสมบัติที่แตกต่างจากส.ส.ประเภทแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ข้อสนับสนุนประการถัดมาที่แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนเป็นการให้ประชาชนเลือกพรรคมิใช่เลือกตัวบุคคลจะสังเกตได้จากบัตรเลือกตั้งจะปรากฎแต่เพียงเบอร์ของพรรคการเมืองและชื่อหรือสัญลักษณ์ของพรรคเท่านั้น อีกทั้งวิธีคิดจำนวนส.ส.ที่พึงมีในแต่ละบัญชียังแสดงให้เห็นว่า จำนวนส.ส.ในแต่ละบัญชีสัมพันธ์กับคะแนนเสียงของพรรคในกลุ่มจังหวัดมิใช่ในแต่ละจังหวัด ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จากการเลือกตั้งจึงควรเป็น “โควต้าตามบัญชีรายชื่อของพรรคการการเมือง” มิใช่ยึดติดกับตัวบุคคลผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ส.ส.ประเภทสัดส่วนจะนำสิทธิตามบัญชีรายชื่อนั้นไปใช้ดังสิทธิที่ติดกับตัวบุคคลเหมือนส.ส.ประเภทแบ่งเขตหาได้ไม่

เมื่อผลการเลือกตั้งประเภทส.ส.สัดส่วนเป็น “โควต้าตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง” แล้ว ส.ส.ประเภทสัดส่วนนี้จึงไม่สามารถนำตำแหน่งของตนไปย้ายพรรคเข้าพรรคการเมืองใหม่หรือหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ได้เนื่องจากเป็นการนำโควต้าตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเดิมไปเพิ่มให้กับพรรคการเมืองที่เข้าไปสังกัดใหม่ หากอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ก็จะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้ลงคะแนนเสียง โดยเฉพาะผู้ลงคะแนนที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคการเมืองที่รับส.ส.สัดส่วนเข้ามาเพิ่ม อีกทั้งไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่มีชื่อในลำดับถัดไปของบัญชีรายชื่อ (Waiting List) ซึ่งก็จะเกิดปัญหาว่าผู้ที่อยู่ใน Waiting List จะสิ้นสุดไปหรือโอนติดตามกันไปหรือไม่ และหากโอนได้สถานะของ Waiting List จะติดตามกันไปอย่างไร

น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบันต่างก็มุ่งกำจัดการซื้อขายเสียงและกำหนดบทลงโทษการซื้อขายเสียง แต่กระนั้นกลับไม่มีการห้ามการซื้อขายนักการเมืองและไม่มีบทลงโทษนักการเมืองที่ขายตัวและพรรคการเมืองที่ขายตัวนักการเมือง[7] ดังนั้นการให้ส.ส.แบบสัดส่วนที่ถูกยุบพรรคสามารถหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดได้โดยอิสระจะก่อให้เกิดปัญหาการซื้อขายตัวส.ส.ภายหลังจากมีการยุบพรรค กรณีเช่นนี้หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการทุจริตการเลือกตั้งรุนแรงยิ่งกว่าการซื้อสิทธิขายเสียงกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียอีก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการซื้อผลสำเร็จของการเลือกตั้ง คะแนนที่ซื้อได้ก็สามารถนำมาใช้การได้ทันทีไม่ต้องรอคณะกรรมการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง นายทุนพรรคการเมืองสามารถอาศัยช่องว่างของกฎหมายข้อนี้เป็นช่องทางสร้างฐานอำนาจทางการเมืองโดยมิชอบซึ่งการนี้จะเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้การเมืองมีเสถียรภาพโดยเฉพาะในระบบพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ ส.ส.นั้นต้องสังกัดพรรคการเมืองส่งผลให้ความเป็นส.ส.ก็จะยึดติดกับพรรคไม่ใช่ยึดติดกับตัวบุคคล[8] พรรคการเมืองจะต้องมีความแข็งแรงและมีเสถียรภาพ ทั้งนี้เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นองค์กรทางการเมืองที่กำหนดตัวผู้ที่จะมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น หากปล่อยให้พรรคการเมืองขาดเสถียรภาพรัฐบาลก็จะขาดเสถียรภาพเช่นกัน ดังนั้นจากเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นผู้เขียนจึงเห็นว่าเมื่อพรรคการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค สมาชิกภาพของ ส.ส. สัดส่วนก็ควรที่จะสิ้นสุดลงไปด้วย ไม่ควรให้ส.ส.ประเภทสัดส่วนหาพรรคใหม่สังกัดภายในหกสิบวันหลังจากมีคำสั่งยุบพรรคได้เหมือนดังส.ส.ประเภทแบ่งเขต



[1] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชนว่าด้วยรัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย, กรุงเทพ, วิญญูชน, 2550, หน้า 192

[2] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, รัฐธรรมนูญน่ารู้, กรุงเทพ, วิญญูชน, 2542, หน้า 282

[3] จำนงค์ ถาวรวิสิทธิ์, ศึกษาเปรียบเทียบระบบและวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ของไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) กับระบบและวีธีการเลือกตั้ง ส.ส.ตามกฎหมายของเยอรมัน, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542, หน้า 35

[4] เรื่องเดียวกัน,หน้า 160

[5] นรนิติ เศรษฐบุตร, รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550, หน้า 328

[6] คณิน บุญสุวรรณ, รวมสาระรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์มติชน, 2541, หน้า 234

[7] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ: บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เล่ม 2, กรุงเทพ, มติชน, 2546, หน้า 54

[8]บุศรา เข็มทอง, การรวมพรรคการเมือง:ศึกษาผลกระทบต่อการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ, วิทยานิพนธ์ปริญญมหาบัณฑิต
คณะนิติศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2546, หน้า 108

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณค่ะ