22 December 2006

คนปลูกข้าวกับมหาลัยของรัฐ

ผมขอเปิดประเด็นถึงความจำเป็น ที่มหาวิทยาลัยจำต้องออกนอกระบบราชการ สาเหตุหลักๆ ก็คือ เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ อันนี้หมายถึงว่าในระดับโลก ไม่ใช่แค่เป็นเลิศในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือ มหิดล ฯลฯ เราก็รู้ๆกันอยู่ว่าเป็นเลิศในสาขาต่างๆ แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี หากไปเทียบในระดับโลกแล้วจะเห็นได้ว่ามีเพียงจุฬาฯ เท่านั้นที่ติดอันดับ Top 200 และกำลังหล่นลงในไม่ช้า

ความจำเป็นประการแรกที่มหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบคือ ระบบราชการที่ออกแบบมาเป็นสูตรสำเร็จสำหรับทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่เหมาะสำหรับ องค์กรเพื่อการเรียนรู้และผลิตบัณฑิต

อาจารย์ต้องการเสรีภาพทางความคิด ในทางปฏิบัติแม้ว่าอาจารย์จะได้รับการยกเว้น ไม่มีคำบังคับบัญชามามากมายนัก แต่อย่างไรก็ดีการทำงานในด้านนโยบายกลับไม่เป็นเช่นนั้น รัฐบาลมักเข้าแทรกแซงกิจการของมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ เมื่อการบริหารขาดความเป็นอิสระแล้วไซ้ร กระไรเลยที่จะนำความคิดอิสระของคณาจารย์มาลงสู่การปฏิบัติ ดังนั้นการออกนอกระบบราชการหมายถึงการนำมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่รวมของปัญญาชนออกมาจากสายบังคับบัญชาของข้าราชการและนักการเมือง

มหาวิทยาลัยจำต้องมีคนเก่งและมีความสามารถที่จะรักษาคนเก่งเหล่านั้นไว้นานที่สุด อาจารย์ที่เก่งๆ ยิ่งอยู่นานเท่าไรก็ยิ่งเก่ง ผิดกับอาจารย์ที่เคยเก่งแต่อยู่ไปนานๆก็ยังคงสอนแต่ความรู้ที่ตนเรียนมา ตกยุคไปแล้วก็ยังขุดมาสอน ลองไปดูอาจารย์ใหม่ๆซิครับ อัตรานักเรียนทุนที่จบจากเมืองนอกแล้วมาเป็นอาจารย์ หมดภาระใช้ทุนเมื่อไรก็ลาออกไปอยู่ภาคเอกชน หรือไม่ก็ไปสอน ม.เอกชน ความมั่นคงของรัฐกับความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจมันไม่ได้ไปด้วยกันในระบบราชการ เมื่อเราออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยสามารถจัดอัตรากำลังอาจารย์ให้ไปสอนยังมหาวิทยาลัยอื่นๆได้ตามกฎหมาย นั้นหมายความว่า มหาลัยก็ได้ อาจารย์ก็หากินได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ใช่เหมือนทุกวันนี้ที่อาจารย์หลายๆคนโกงเวลาราชการไปสอน ม.เอกชน
หากลองคิดถึงความคุ้มค่าจะเรียกได้ว่ามหาลัยในยามนี้ขาดทุนมากๆ เพราะเป็นคนสร้างนักเรียนทุน บ่มเพาะอาจารย์ แต่เมื่ออาจารย์เหล่านั้นมีความสามารถเป็นที่ต้องการของสังคมกลับถูกซื้อตัวไปด้วยราคาที่จัดว่าถูกมาก และมีแรงจูงใจให้อาจารย์ทุมเทการสอนมากกว่าใน มหาลัยในระบบราชการอีกด้วย
ตรงนี้ผมเปรียบเหมือนกับชาวนา ชาวนาปลูกข้าวด้วยความพิถีพิถัน ดูแลกล้าแต่และต้นแต่ละแปลง แต่พอข้าวเผยรวงทอง ก็มีนายทุนเจ้าของโรงสีมาเก็บเอาข้าวไปขาย ชาวนาจะกินข้าวก็มาตำครกกันไป แล้วคิดตามละกันว่าข้าวจากครกของชาวนา กับข้าวที่ออกจากโรงสี ของใครจะมีคุณภาพดีและขายได้ดีกว่ากัน

หากวันนี้มหาลัยไทยยังตำครกกันอยู่ก็เห็นที่จะแพ้เพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้กันหมดใน 10-20 ปีข้างหน้า สิงคโปร์วันนี้อยู่ในอันดับ top 100 เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาตามเรามาติดๆ มาเลย๋วันนี้ก็เข้า win มาถึง 2 มหาวิทยาลัย แล้วเราละ?? อย่าลืมนะว่า จุฬาฯ ที่ ร.6 พระราชทานมาให้ เกิดขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแรกในภูมิภาคนี้เลยนะครับ แล้ววันนี้เราทำอะไรกันอยู่ อยู่ในระบบผู้บริหารบริหารกฎหมาย และระเบียบราชการ
ออกนอกระบบคงได้เริ่มบริหารการศึกษากันเสียที

15 December 2006

นิสิตกับม.ออกนอกระบบ

เมื่อวานเย็น(14 ธ.ค.49) ติดตามอ.นิวไปเสวนาเรื่อง ม.นอกระบบใครได้ใครเสีย ห้องประชุมวิศวะฯ จัดโดยสภานิสิตจุฬาฯ ผู้ฟังมีทั้งนิสิตและอาจารย์คนนอกก็มีอยู่บางเท่าที่ได้คุยก็มีนักศึกษาจากธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งกับ ม.กรุงเทพฯอีกกลุ่ม ผมว่าคนที่มาฟังนิสิตจะดูกลางๆและอยากรู้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใน แต่พวกอาจารย์นี้ไม่ได้มาฟังเป็นเป้าหมายหลัก หากแต่มาพูดกับมาดักคอฝ่ายบริหารเสียเป็นส่วนใหญ่ งานนี้ดีที่มีท่านจรัญฯ ปลัดยุติธรรมมาด้วย อย่างไรก็ตามฝ่ายที่คัดค้านพูดนอกเรื่องนอกประเด็นเสียมาก เขาให้มาพูดว่านิสิตจะได้อะไรเสียอะไร แต่กลับมาสอนถึงรัฐสวัสดิการ ทำไมต้องออก ออกแล้วจะดีได้อย่างไร หาตรรกะไม่ค่อยได้ ข้อมูลเท็จก็มีเยอะ เอาว่าไม่ใช่แค่ผิดหรือพลาด แต่เล็งเห็นผลเลยละครับ ผมละสะเทือนใจมากที่เห็นอาจารย์จุฬาฯเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะมารยาทในการเสวนา การให้เกียรติกันในฐานะอาจารย์ หรือมารยาทในการเป็นผู้ฟังที่ดีและรับฟังคนอื่น ผมเพิ่งมารู้ว่าในที่ๆมีแม่พิมพ์ที่ดีสุดในประเทศซึ่งประกอบด้วยคนที่มีความรู้ดีที่สุด แต่นั้นไม่ได้รับประกันว่าอาจารย์เหล่านั้นจะเป็น "ผู้ดี" ในสายตาของผมเลย ไม่เถียงในประเด็นความรู้ที่ท่านมี แต่ขอสอนในเรื่องมารยาทของผู้ดีหน่อยนะครับ จะเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่ ไม่สำคัญ หากท่านอาจารย์เพื่อประชาธิปไตยเหล่านั้นยังไม่เข้าใจว่าการรับฟังที่ดีเป็นอย่างไร เสียแรงเปล่าครับที่จะสู้เพื่อประชาธิปไตย
งานนี้ต้องขอชมอาจารย์จรัญมาก สอนให้รู้ว่า "สงบนิ่ง สยบความเคลื่อนไหว" นั้นเป็นอย่างไร เพชรนั้นแม้จะถูกแทะ ถูกนำไปคลุกกับความโสโครก เพชรก็ยังเป็นเพชร ทนงในศักดิ์ศรีของตนเองและไม่สนว่าใครจะว่าอย่างไร เรารู้ตัวดีเองว่าเราเป็นอย่างไรเดียวคนที่เอาค้อนมาทุบเพชรก็เจ็บมือไปเอง.....
สำหรับเรื่อง ม.นอกระบบขอพักไว้ก่อนนะครับ ขออย่างเดียวว่าให้มีข้อมูลที่แท้จริงในมือ อ่านกฎหมายที่ร่างมา อย่าฟังข้างเดียว เอาตนเองเป็นหลักอย่าตามกระแสที่คนอื่นปลุกปั้นมาให้ หากคุณค้านเพราะคุณเข้าใจว่ามันไม่ดีจริงบนข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ผมก็ไม่อาจตำหนิคุณได้เลยแถมจะยกย่องคุณอีกด้วย เพราะหัวใจของคำว่าประชาธิปไตยส่วนหนึ่งคือ "เป็นผู้ฟังที่ดี และยอมรับความคิดที่แตกต่าง"

12 December 2006

มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

ข่าวคัดค้านมหาลัยออกนอกระบบ
http://www.komchadluek.net/2006/12/08/a001_72730.php?news_id=72730


ก่อนอื่นต้องขอโทษที่ไม่ได้มา Post เสียนาน ช่วงนี้งานยุ่งมากๆอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำงานเหมือน Law Firm แต่รับเงินแบบราชการ แย่เหมือนกันนะครับ งานส่วนใหญ่ตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเสนอร่าง พรบ.จุฬาฯ ออกนอกระบบ แต่ก่อนตอนเป็นนิสิตก็เคยค้านการออกนอกระบบ ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะต้องเข้ามาจับเรื่องนี้อย่างหลีกเสียไม่ได้ เหตุผลการออกนอกระบบฝ่ายมหาลัยผมคิดว่าฟังขึ้นมากกว่าฝ่ายค้านนะครับ หลังจากที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมาระยะหนึ่ง เห็นระบบราชการที่เรียกว่า "เช้าชามเย็นครึ่งชาม" แล้วก็ท้อใจ มันจะติด 1 ใน 100 มหาลัยโลกใดอย่างไรหากระบบบริหารงานมหาลัยยังใช้ระบบราชการ ทรัพยากรบุคคลในตอนนี้แทบจะเรียกว่าไม่ส่งเสริมด้านคุณภาพเสียเลย หากผมได้เห็นการทำงานทางฝ่ายวิชาการแล้วคงจะมีแผลอีกเยอะที่ต้องรักษา
ประเด็นแรก ฝ่ายที่ค้านการออกนอกระบบมักจะยกประเด็น "แปรรูปมหาวิทยาลัย" มาเสนอ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่การแปรรูปแต่อย่างไร การออกนอกระบบไม่ใช่การ "Privatization" หรือการแปรรูปเป็นเอกชน การออกนอกระบบพนักงานมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นพนักงานของรัฐเพียงแต่ออกไปไม่อยู่ในบังคับบัญชาของ กระทรวงศึกษาซึ่งเป็นราชการส่วนกลางก็เท่านั้น แค่ประเด็นนี้หากจะอธิบายให้คนที่ค้านเข้าในก็คงต้องยกกฎหมายมาว่ากันอย่างน้อย 4 ฉบับ และต้องอธิบายอีกว่า Privatization คืออะไร
ประเด็นที่สอง คือ เสรีภาพทางวิชาการ การแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ พนักงาน เรื่องนี้ก็ถูกบิดเบือน หากจะวัดกันจริงๆแล้วการออกนอกระบบจะเป็นการเปิดเสรีภาพมากกว่าที่จะปิดกั้นเสรีภาพนะครับ เพราะอาจารย์จะไม่อยู่ภายใต้ระเบียบ ก.พ. อีกต่อไป วินัยต่างๆของข้าราชการก็ไม่จำกัด ผมเห็นว่าเป็นพนักงานนี้เสรีภาพมากกว่าเห็นๆ
ประเด็นที่สาม ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางสังคม คือ หากออกนอกระบบแล้วนักเรียนจนๆจะไม่มีที่เรียน ข้อนี้ต้องเขียนในฐานะศิษย์เก่าจุฬาฯ ผมบอกได้เลยว่าปัจจุบันนิสิตที่จนจริงๆในจุฬาฯ หายากเต็มทน และส่วนใหญ่ที่จนก็เป็นพวกที่ได้รับทุน คนจนในมหาลัยประมาณเอาผมว่าไม่น่าจะเกินร้อยละ 10 เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าระบบ Entrance มันกำหนดฐานะเด็กในมหาลัย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า กว่าจะเอ็นฯเข้าจุฬาฯได้ นิสิตนั้นต้องใช้ทุนในการเรียนกวดวิชา ถึงหากไม่เรียนก็ต้องมี Tutor ที่ดี มีข้อมูล มีหนังสือ หรือช่องทางในการกวดวิชา สิ่งเหล่านี้มีต้นทุนครับ ผมเองก็ไม่ได้เรียนกวดวิชาแบบเอาเป็นเอาตาย ลงไปแค่ 2 courses ยังหมดไปหลายพัน หากนับรวมกับสื่ออื่นๆที่ใช้ในการทบทวน ก็เป็นหมื่นละครับ แล้วคิดหรือว่าคนจนๆจะเอ็นฯติด ถึงมีก็มิใช่ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีมหาลัยก็มีทุนที่ดึงเอาเด็กจากต่างจังหวัดมาเรียนอยู่แล้ว ไม่เชื่อลองไปหาดูที่หอในดูก็ได้ครับมีเยอะ ฉะนั้นผมเห็นว่าข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น

วันนี้พ่นมาเยอะแล้ว เอาไว้มีโอกาสจะมาระบายให้อ่านอีกนะครับ