15 August 2006

กกต.กับความเป็นกลางทางการเมือง

ช่วงนี้ประเด็นเรื่องการสรรหากกต.ดูจะเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย ในตอนแรกผมเห็นรายชื่อว่าที่กกต.ทั้ง 10 คนที่ได้มาจากที่ประชุมศาลฏีกาก็โล่งใจ 10คนที่ได้ก็น่าจะเป็นกลาง และเป็นมือกฎหมายจริงๆ หลายๆคนในนั้นก็เป็นท่านอาจารย์ที่ได้สั่งสอนวิชากฎหมายให้กับผมเอง ในช่วงแรกทีมข่าวการเมืองหลายๆสำนักก็ออกมายินดีกับทั้ง10ท่าน ทั้งกล่าวว่า 10 คนที่ได้มานี้แหละสุดยอดแล้ว ต่อมาหาเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือเมื่อมีข่าวว่าจะมีการบล็อกโวตในชั้นวุฒิสภา ก็เริ่มขุดคุ้ยประวัติมาแฉ ที่ยิ่งกว่านั้นคือกลุ่มพันธมิตรฯที่ออกมากดดันสภาสว. "ห้ามไม่ให้ คุณนาม กับ คุณแก้วสรร หลุดโผ" ตรงนี้ละครับที่เป็นฉนวนให้ผมคิดเรื่องความเป็นกลางของกกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136
ผมคิดว่าเราน่าจะได้ว่าที่กกต.ที่ไม่มีเอี่ยวกับรัฐบาลไทยรักไทยแล้วละ แต่จะเป็นกกต.ที่มีเอี่ยวกับอีกฝ่ายหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ โดยหลักแล้วคนที่เคยเป็นความกันมาก่อนหรือแสดงจุดยืนว่าอยู่ตรงข้ามกันมาก่อนไม่ควรที่จะมาเป็นกรรมการชี้ขาดปัญหาใดๆ คือหลักผลประโยชน์ขัดกัน conflict of interest ทั่วไปละครับ
มาถึงตรงนี้ผมขอให้สังเกตว่า คุณนาม เคยเป็นคนชงเรื่องยุบพรรคไทยรักไทย อีกคนคือ คุณแก้วสรร ขึ้นเวทีไหนก็แสดงจุดยืนตนเองอย่างชัดเจนว่าไม่เอารัฐบาล เยี่ยงนี้แล้วจะถือว่าเป็นกลางทางการเมืองใด้อย่างไร?? ผมว่าผู้พิพากษาคงจะรู้ในหลักข้อนี้ดีอยู่ แล้วทำไมในรายชื่อ 10 ท่านถึงมีกรณีเช่นนี้ได้ น่าแปลกนะครับ

02 August 2006

สิทธิการประท้วง-สิทธิการละเมิดผู้อื่นโดยชอบ

ภาพ:ชัย ราชวัตร, นสพ.ไทยรัฐวันที่ 2 สิงหาคม 2549

ประเด็นที่จะนำมาเขียนในวันนี้คือเรื่องการสิทธิในรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อนายกฯพระราชทาน
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า รัฐธรรมนูญคืออะไรและมีไว้ทำไม รัฐธรรมนูญคือกติกาในการบริหารปกครองประเทศ เป็นตัวโครงสร้างที่บอกว่ารัฐคืออะไรและใช้อำนาจได้อย่างไร ส่วนรัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม หากตอบให้ง่ายที่สุดก็เห็นจะตอบได้ว่า "มีเพื่อจำกัดอำนาจรัฐ ไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขต" หลักที่จะนำมาปรับให้เข้ากับการปฏิบัติคือ หลักนิติรัฐ กล่าวคือการกระทำใดๆ ของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมาย และกฎหมายสูงสุดในที่นี้หมายถึงรัฐธรรมนูญนั้นเอง
สิทธิในการประท้วงนี้ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44
"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในสภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก"
หากพิจารณาจากบทบัญญัติจะเห็นได้ว่า สิทธิในมาตรานี้แม้ได้รับการรับรอง แต่ก็ให้สิทธิอย่างมีขอบเขต กล่าวคือ อาจถูกจำกัดได้ในกรณีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย(public order) และคุ้มครองคนอื่นที่จะใช้ที่สาธารณะ
ครั้งหนึ่งผมไปสัมมนากฎหมายกับปัญหาสังคม กับนิสิตปี 1 วิทยากรให้ความเห็นว่า แค่คิดว่าจะร่างกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมก็ผิดแล้ว เพราะสิทธิในตรงนี้มันไม่สามารถจำกัดได้ ต้องให้มันมีเสรีภาพในการคิดการทำ ในการแสดงออกถึงการเรียกร้อง ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะตามที่ได้เรียนแล้วคือ สิทธิตรงนี้มันมีข้อจำกัดว่าต้องอยู่ในความสงบ (public order) รัฐยังคงต้องมีอำนาจในการรักษาความสงบเพื่อคุ้มครองผู้อยู่นอกกลุ่มชุมนุม
ยกตัวอย่างการขัดแย้งของสิทธิเช่น เมื่อฝ่ายหนึ่งอ้างสิทธิในการชุมนุมมาปิดถนนหน้าห้างฯ สยาม พารากอน ทำให้บุคคลอื่นๆซึ่งอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่สามารถเดินทางผ่านบริเวณนั้นได้ ดังนี้สิทธิในการเดินทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 ของคนกลุ่มหลังก็ถูกละเมิด แต่ด้วยความที่คนมากกว่าเข้ามาปิดถนนคนกลุ่มแรกก็ได้ประโยชน์ไป ที่เหลือก็เสียประโยชน์ คำถามคือเราจะบริหารสิทธิในเรื่องนี้อย่างไร เพราะความศักดิ์สิทธิ์ก็เท่ากัน อยู่ในหมวดเดียวกัน
ขอให้เปรียบเทียบกับการประท้วงตอนอยู่ที่สนามหลวง เมื่อมีการประท้วงจะมีการนัดกันล่วงหน้ามีการประสานงานกับตำรวจเป็นอย่างดี การกระทบสิทธิของคนอื่นก็มีไม่มากเพราะเป็นสถานที่เพื่อให้ชุมนุมจริงๆ หรือจะเป็นที่ลานพระบรมรูปฯก็ไม่กระทบคนอื่นมากนักเพราะทางรัฐก็จัดให้มีการชุมนุมเหล่ากาชาดทุกๆปี แต่การที่เคลื่อนตัวมากลางศูนย์ธุรกิจก็กระทบกับคนอื่นมาก การจราจรเป็นอัมพาตทั้งเมือง เยี่ยงนี้แล้วเป็นการใช้สิทธิในรัฐธรรมนูญเกินส่วนหรือไม่?
ความคิดที่ว่าสิทธิในการประท้วงเป็นสิทธิที่สำคัญและไม่สามารถมากำหนดกฎเกณฑ์ได้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การจำกัดก็ควรจะมีได้แต่ให้อยู่ในขอบที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น ไม่ละเมิดคนอื่นก็เท่านั้น เป็นต้นว่า การจัดการชุมนุมก็ให้เป็นที่สาธารณะจริงๆ และมีไว้เพื่อการชุมนุม หรือจะวัดจากปัญหาที่กระทบคนหมู่มากหากมีการชุมนุมก็ได้ เช่นการชุมนุมที่สนามหลวง เทียบกับที่สวนลุม หรือการชชุมนุมที่จตุจักรเทียบกับที่สยามพารากอน เหล่านี้ขอให้ท่านเทียบดูเองเถิด ส่วนผมคิดว่าหากสังคมเราสนใจเรื่องพหุนิยมกันบ้าง เราก็จะเคารพสิทธิที่มีระหว่างกันมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะอยู่ร่วมกับคนส่วนน้อยอย่างสงบและสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็เป็นของทุกคน ไม่ใช่คนที่มีเสียงดังกว่า.........