27 July 2006

เหตุผลที่กกต.สมควรลาออก V. เหตุผลที่เลขาฯครม.ลาออก


จากที่ได้ติดค้างกันมาในประเด็นกกต.ถูกจำคุกแล้วอะไรจะเกิดขึ้น? ประการแรกต้องมาพิจารณากันว่าพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งที่ได้ประกาศออกมาแล้วนั้นจะต้องถูกเลื่อนออกไปหรือไม่ ในกรณีนี้ท่าน อ. ปื๊ด เห็นว่าการสรรหากกต.โดยศาลฏีกาหรือโดยคณะกรรมการสรรหา หากกระทำตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่(โดยไม่มีการสมยอมหรือฮั๊วกัน) ก็น่าจะกินเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน นอกจากนั้นเมื่อได้กกต.มาแล้วก็ต้องให้ระยะเวลาในการเรียนรู้งานพร้อมกับการประกาศและตรวจสอบคุณสมบัติสส.เพื่อเลือกตั้งในวันทึ่ 15 ตค.อีก เช่นนี้แล้วเห็นทีจะยากที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว หากเลือกตั้งได้จริงผมก็เห็นว่ามันก็คงจะมีข้ออ้างว่าไม่เป็นรรมได้อีก ซึ่งผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในคราวหน้าก็ต้องรับกรรมไป
จะว่าไปก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่เมื่อศาลมีหมายจำคุกกกต.ไปแล้ว แต่วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่สำนักงานกกต.ก็เอาใบลาออกมาให้กกต. ลงนาม ประการนี้น่าจะเป็นการหวังผลทางการเมืองมากกว่าการที่จะให้มีผลทางกฎหมาย เนื่องจากสถานภาพของกกต.ขาดไปตั้งแต่ถุกจำคุกตามหมายศาลแล้ว แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ขาดได้ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา106 และในกรณีนี้จะไปอ้างคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญว่าคดียังไม่ถึงที่สุดก็ไม่ได้(เช่นคดีทุจริตของเนวิน ชิดชอบ) เพราะศาลในบ้านเราเป็นระบบศาลคู่ขนาน คำพิพากษาระหว่างศาลมีค่าเทียบเท่ากัน จะเพิกถอนกันได้ก็แต่อาศัยกฎหมายที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้เป็นคดีอาญา ศาลยุติธรรมก็สร้างหลักเองได้ ไม่ต้องอิงศาลรัฐธรรมนูญ

ทีนี้มาดูเหตุผลดีๆ ที่กกต.สมควรลาออก โดยคำสอนของอ.ปื๊ด โดยท่านได้กล่าวว่า "Justice is done and has to be seen to be done" หมายความว่า การประสาทความยุติธรรม ต้องทำให้ผู้อื่นเห็นด้วยว่าเป็นการประสาทความยุติธรรม ไม่ใช่แค่ทำตามกฎหมายบัญญัติ แต่ต้องเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเป็นความชอบธรรม ครั้นจะแยกความยุติธรรมมาอรรถาธิบาย ก็เห็นว่าจะแยกได้ออกมาเป็นสองส่วนคือ ความชอบด้วยกฎหมายบ้านเมือง(legality) กับความชอบธรรม(legistimacy) ความชอบด้วยกฎหมายนี้อาศัยพื้นฐานความชอบจากตัวกฎหมายซึ่งก็ต้องพิจารณากันต่อไปว่ากฎหมายนั้นดีหรือไม่ดี ออกโดยได้รับการยอมรับจากปวงชนหรือไม่ ส่วนความชอบธรรมนั้นอาศัยความรู้สึกที่ได้รับความเป็นธรรมและอาศัยการยอมรับ(perception)ของหมู่ชน หากจะถามว่าสองอย่างนี้อย่างใดมีความสำคัญกว่ากัน ผมก็คงจะจนใจเพราะสำคัญด้วยกันทั้งคู่ ความชอบด้วยกฎหมายก็ต้องได้รับการยอมรับว่ากฎหมายนั้นดีมีผลบังคับได้ ส่วนความชอบธรรมนั้นก็ดูจะเป็นการเลื่อนลอยเกินไปหากไม่มีกฎหมายมาจำกัดความเพราะความชอบธรรม หรือคุณธรรมทางกฎหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีค่าไม่เท่ากันทำให้การให้ความหมายของคุณธรรมแตกต่างกันไป
สิ่งที่อ.ปื๊ดย้ำให้นักกฎหมายพึงสังวรไว้ก็คือ เราเป็นสายอาชีพที่อาศัยความเชื่อถือของประชาชน เมื่อใดก็ตามเราขาดความเชื่อถือในตำแหน่งหน้าที่ หรือพูดแล้วคนไม่เชื่อถือ แม้สิ่งที่เราพูดจะเป็นความจริงเป็นสิ่งที่ถูกต้องคนก็ไม่เชื่อ ดังนี้แล้วก็ป่วยการที่จะทำหน้าที่ต่อไป โดยเฉพาะในทางการเมืองที่ perception is reality ผมเทียบเอาได้ว่าเมื่อกล่าวดังนี้ก็หมายความว่า หากคนส่วนใหญ่มี perception อย่างแว่นสี แม้เราที่ไม่ใส่แวนเห็นถูกเห็นชอบอย่างไร คนส่วนใหญ่ที่สวมแว่นสีก็ย่อมไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูด
ดังนั้นเมื่อหันกลับมามองกกต. เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เป็นกลาง แม้ตนจะเป็นกลาง ก็ไม่ควรทำหน้าที่ต่อไปให้เกิดความแคลงใจ ผมจึงกระจ่างในเหตุผลดีๆที่กกต.ควรลาออกก่อนหน้านี้มาตั้งนานแล้ว

26 July 2006

สังเวยกกต.เพื่อความยุติธรรมทางการเมือง



สังเวยกกต. เพื่อความยุติธรรมทางการเมือง
ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกการกระทำของศาลยุติธรรมในกรณีนี้ว่าอย่างไร แม้ผมแน่ใจว่าศาลมีเจตนาที่ดีในการเข้ามาแก้ไขวิกฤตการทางการเมืองแต่สิ่งที่ผมมักพูดและคิดอยู่เสมอคือ "อย่ามั่ว" กระนั้นผมไม่แน่ใจว่าศาลจะมั่วหรือเปล่า แต่หากดูขอบอำนาจแล้วก็คงไม่มั่ว รูปคดีผมไม่ขอพูดถึงเพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของศาลและศาลก็วินิจฉัยได้ดี แต่ที่เห็นว่ามันผิดปรกติคือการลงโทษของศาลและการที่ศาลไม่ให้ประกันตัว

ในการอนุญาตให้ประกันตัวนั้นหากพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแล้วก็เห็นว่าเป็นดุลยพินิจของศาลโดยแท้ แต่เกณฑ์ที่ศาลถือปฎิบัติ ในวิ.อาญาในกรณีนี้ก็คือ มาตรา108 - 109
มาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้อพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
(1)ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2)พยานหลักฐานที่ปรากฎแล้วมีเพียงใด
(3)พฤติการณ์ต่างๆแห่งคดีเป็นอย่างไร
(4)เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5)ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนี้หรือไม่
(6)ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยตัวชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(7)ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
มาตรา 108/1 วรรคแรก
การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(1)ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2)ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3)ผู้ต้องหารหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4)ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5)การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

หากดูๆไปแล้วก็สงสารกกต.อยู่เหมือนกันที่โดนเหตุไม่ให้ประกันว่า "เกรงว่าจะไปจัดการเลือกตั้ง" พิจารณาไตร่ตรองกันเองเถิด ว่าเป้าหมายและวิธีการของศาล มันชอบธรรมหรือเปล่า สำหรับผมก็ขอคารวะในความอึดของกกต.ครับ สำหรับเรื่องกกต.ขอเก็บเอาไว้วิเคราห์ที่หลังนะครับ ให้มีข้อมูลมากกว่านี้จะมาวิจารณ์ให้อ่านกัน

หมายเหตุ เมื่อวานได้เข้าเรียนวิชา รัฐธรรมนูญ (ป.โท) โดยมีท่านปรมาจารย์ปื๊ดเป็นผู้บรรยาย ท่านได้ให้ข้อคิดมากมายซึ่งผมขอตัวเก็บเอาไปคิดให้ตกผลึก แล้วจะมาเปิดประเด็นให้ทุกคนได้ทราบครับ

25 July 2006


ลองสังเกตดูนะว่าแมวมันมุดออกมาจากภาพถ่ายห้องครัว
หรือว่าแมวมันม้วนอยู่ในผ้ากันแน่ ???

24 July 2006

กกต.แพะหรือแกะดำ


กกต.แพะหรือแกะดำ
http://www.thairath.co.th/showcartoon.php?cat=129
เมื่อเช้าอ่านข่าวนสพ. การ์ตูนล้อเลียนเป็นมุขหาก กกต.ถามนักข่าวว่าตนเองผิดอะไร
ผมก็สงสัยอยู่ว่ากกต.ทำผิดอะไร ทำไมถึงต้องออก
หนึ่ง -----ใครจำได้หรือไม่ ตอนที่ประท้วงไล่นายกฯ สื่อก็โจมตีแต่นายกฯ ประโคมข่าวม็อบกันทั้งวันทั้งคืน กกต.ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร
สอง-----พอนายกฯยุบสภา สื่อก็หันไปเล่นข่าวพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ลงสมัคร
สาม -----เลือกตั้งเสร็จก็หันมาเล่นงานกกต.อีก
สี่ -------ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมรวมหัวกันฟันธงคดีเลือกตั้ง ผมก็สงสัยว่าอาการอย่างนี้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะตามกฎหมายมันมีกรณีเดียวเท่านั้นที่ศาลจะสามารถมารวมตัวกันได้ก็คือคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล มาปรึกษาหาทางออกเรื่องเขตอำนาจศาล
สี่ ที่แย่ที่สุดคือกรณีที่ศาล ผ่านตัวแทน เช่น สำนักงานศาลฯ ผู้พิพากษา ออกมาเรียกร้องให้กกต.ลาออก โดยอ้างว่าทำตามพระราชกระแส สิ่งที่พระองค์ท่านย้ำในวันที่พระราชทานคำแนะนำคือ "อย่ามั่ว" เพราะปัญหามันเกิดจากการมั่ว แล้วศาลซึ่งเป็นองค์กรชี้ขาด ไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย แต่กลับมาใช้อำนาจตุลาการนอกศาล กดดันกกต. ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูก จะเป็น Judicial Activism ก็ไม่ใช่ ผมเห็นว่าผู้พิพากษาไม่ควรแสดงความเห็นที่เป็นการชี้ขาดใดๆต่อกรณีปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้เลย ด้วยเหตุว่าหากกกต.ตกเป็นจำเลยที่ตนต้องตัดสิน ผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมก็คือกกต. เพราะศาลได้ฟันธงว่าผิด "ตั้งแต่ยังไม่พิจารณาความ" ขัดกับหลักในรัฐธรรมนูญที่รับรองใน มาตรา ๓๓ "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้" แล้วเมื่อศาลและตัวแทนศาลออกมาแสดงจุดยื่นพร้อมกับกดดันกกต.ให้ลาออกเยื่ยงนี่จะยุติธรรมกับกกต.หรือ?
ห้า--เมื่อศาลตัดสินตามธงว่า เลือกตั้งไม่ชอบ ตุลาการมานิตย์ให้ความเห็นว่า ที่กกต.จัดการเลือกตั้งไม่ผิดกฎหมาย แต่ตัดสินให้เลือกตั้งใหม่ แล้วหลักเรื่องนิติรัฐ หลักเรื่อง constitutionalism หลัก Vettrauensschutzprinzip (หลักคุมครองความสุจริตของการออกคำสั่งทางปกครอง, German) เราจะเอาหลักอะไรมาเป็นเกณฑ์ที่บอกว่า กกต.กระทำผิดละครับ เท่าที่ทราบ หลายๆ ประเทศในโลกก็หันคูหาออก อินเดีย ลาว ที่เพิ่งเลือกตั้งไป ดูจากทีวีก็หันคูหาออก หากจะเอาการจัดคูหามาเป็นตัววัดว่าการเลือกตั้งไม่ชอบเพราะไม่สุจริตผมว่าก็คงจะเกินไป แล้วทำไมไม่มีการเพิกถอนพวก อบต.ที่เลือกๆไปก่อนหน้าละครับ
หก-----หาก กกต. ผิดจริงทำไมไม่พิจารณาไปตามกระบวนการศาลละครับ หากเห็นว่าเป็นคดีพิเศษก็จัดการให้มันรวดเร็วก็ได้ ไม่เห็นจะต้องมารวมหัวกันเป็น Special Tribunal เลย ในหลวงท่านให้ไปหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่ได้ให้ใช้อำนาจร่วมกัน อีกทั้งการตั้ง
เจ็ด-----ครั้นเป็นอย่างนี้แล้วก็คงจะได้แต่สงสารกกต.ที่เป็นแพะของไฟการเมือง ใครจะมาล้างมลทินก็ไม่มี กว่าจะผ่านเข้ามาได้ก็ยากลำบาก ต่อไปใครจะกล้ามาเป็น กกต.อาสารับใช้ชาติละครับ
แปด--- การสรรหา กกต.ที่ขาดไป 2 ท่าน ผมเห็นว่ากรณีนี้ที่ประชุมศาลฎีกาเองก็ไม่มีอำนาจ เพราะติดเงื่อนเวลาในรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา 138
มาตรา ๑๓๘ การสรรหาและการเลือกประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งจำนวนสิบคน ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน ทำหน้าที่พิจารณาสรรหาผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓๗ ซึ่งสมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง จำนวนห้าคน เสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น มติในการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการสรรหาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
(๒) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวนห้าคนเสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น
(๓) การเสนอชื่อตาม (๑) และ (๒) ให้กระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุที่ทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหาตาม (๑) ไม่อาจเสนอชื่อได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่อาจเสนอชื่อได้ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนด ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อแทนจนครบจำนวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องเสนอชื่อตาม (๑)
(๔) ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อตาม (๑) (๒) และ (๓) ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ ให้ห้าคนแรกซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการการเลือกตั้ง แต่ถ้าจำนวนผู้ได้รับเลือกดังกล่าวมีไม่ครบห้าคน ให้นำรายชื่อผู้ไม่ได้รับเลือกในคราวแรกนั้นมาให้สมาชิกวุฒิสภาออกเสียงลงคะแนนเลือกอีกครั้งหนึ่งต่อเนื่องกันไป และในกรณีนี้ ให้ถือว่าผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบห้าคน เป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ในครั้งนี้ถ้ามีผู้ได้คะแนนเสียงเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินห้าคน ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
เก้า---- ศาลเป็นองค์กรที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในทางการเมืองจริงหรือ? อาจจะจริงตามกฎหมายเอกชน แต่หากว่ากันตามหลักกฎหมายมหาชนแล้ว เรื่องการเมือง ศาลยุติธรรมไม่ควรเข้ามาเกี่ยว เพราะ ศาลไม่มีระบบที่ให้ผู้อื่นมาตรวจสอบหนึ่ง ศาลเป็นระบบปิดไม่มีคนนอกเข้ามากลางระบบหนึ่ง ผู้พิพากษาอาจมีประโยชน์แอบแฝงหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้เราจึงต้องให้คดีมีศาลการเมืองเป็นการเฉพาะ นั้นก็คือศาลรัฐธรรมนูญ

เก้าประการนี้ขอเอามาเป็นข้อคิดในการพิจารณาว่า กกต.เป็นแพะหรือแกะดำ

23 July 2006

คอรัปชันในสายตาของข้าพเจ้า

คอรัปชันในสายตาของข้าพเจ้า (เขียนเมื่อปี 2545- ได้รับรางวัลจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสแห่งประเทศไทย)

ปัญหาสังคมของประเทศไทยนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปล้นจี้ ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย อาชญากรรมที่พบเห็นทุกวันนี้เกิดขึ้นก็เพราะว่าเรายังเป็นมนุษย์ที่มีความโลภ โกรธ หลง บางคนที่ไม่สามารถควบคุมความต้องการทั้งภายในและภายนอกได้ก็มักจะก่อเหตุเดือดร้อนขึ้นมา แต่ปัญหาที่ผมเห็นว่าน่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้คือปัญหาการคอรัปชันที่ฝังลึกเข้าทำลายจิตสำนึกของคนไทยมานานกว่าศตวรรษ การคอรัปชันหรือการฉ้อราษฏบังหลวงมีการพัฒนารูปแบบไปตามยุคสมัย ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บางคนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ
คอรัปชันนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมมานับตั่งแต่โบราณกาล เมื่อครั่งที่ประเทศเรายังใช้ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดแต่เพียงผู้เดียว แต่ในส่วนภูมิภาคแล้วกษัตริย์จะแต่งตั่งเจ้าเมืองไปปกครอง เจ้านายเหล่านี้ไม่ได้เงินเดือนจากพระคลัง แต่ก็ได้รับประโยชน์จากการกินเมือง นานเข้าก็เห็นว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั่งแต่อดีตที่ข้าราชสามารถหาผลประโชนย์จากตำแหน่งหน้าที่ได้
ระบบอุปถัมภ์ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่ฝังลึกกันจนเป็นธรรมเนียม ในปัจจุบันเราจะสามารถเห็นได้ว่าในระบบราชการนั้น ใครที่มีเส้นมีสายดีก็จะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือไม่ว่าจะเป็นการบรรจุเข้ารับตำแหน่ง เลื่อนขั้น ก็มีการให้สินบนกัน กระทั่งในโรงเรียน สถานที่ซึ่งเพาะอบรมเยาวชนของชาติก็มีการคอรัปชัน การฝากเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซื้อที่นั่งในชั้นเรียนเป็นต้น
สาเหตุของการคอรัปชันนั้นมีมากมาย แต่ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดคือ ความโลภและความเห็นแก่ตัว เราทุกคนนั้นมีความต้องการด้วยกันทั้งนั้น ธรรมชาติของมนุษย์นั้นก็มีสันชาติญาณ เหมือนกับสัตว์อื่นๆที่อยู่บนโลกใบนี้ ที่ต้องการอาหารเพื่อมาประทังชีวิต ต้องการมีชีวิตรอด แต่ทว่า มนุษย์มีความต้องการที่ซับซ้อนกว่านั้น มนุษย์ต้องการสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีความต้องการทางด้านจิตใจ ต้องการความรัก ต้องการการยอมรับจากสังคม ต้องการอำนาจ ต้องการที่จะมีชื่อเสียงและเกียรติยศ และอื่นๆอีกมากมาย ความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด และบางคนยอมที่จะทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตน
ความต้องการเป็นแรงผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆ แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักควบคุมความต้องการด้วย ถ้าเราควบคุมความต้องการไม่ได้ ไม่รู้จักพอเพียง เราก็จะพยายามสนองความต้องการนั้นอยู่เรื่อยๆ และมากขึ้นๆ ความโลภนี้เองที่เป็นสาเหตุของการคอรัปชัน ถ้าวิเคราะห์ปัจจัยในการคอรัปชันให้ดีจะพบว่าปัจจัยหลักคือ อำนาจ
อำนาจกับการคอรัปชันเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กัน อำนาจสามารถบันดารสิ่งที่ตนเองปรารถนาได้ ยิ่งมีอำนาจมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสในการคอรัปชันมากตามไปด้วย ผู้ที่มีอำนาจจึงเป็นผู้ที่จะสามารถคอรัปชันได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีอำนาจ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของส่วยทางหลวง ตำรวจทางหลวงมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่ตำรวจเหล่านั้นได้ใช้อำนาจที่มีอยู่เป็ช่องทางในการหารายได้เป็นประโยชน์ส่วนตน ผลที่ได้มาคือเงินเข้าสู่พรรคพวกของตนเอง ผลเสียต่อส่วนรวมคือประชาชนที่ไม่รู้เรื่องจำทนต้องใช้ทางหลวงร่วมกับเหล่ารถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน ต้องทนเห็นถนนซึ่งสร้างมาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายไปพังไปก่อนเวลาอันควร ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างที่มีความซับซ้อนไม่มาก สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการจากการคอรัปชันก็คือเงิน ในทางเดียวกันการคอรัปชันก็เปรียบดังการลงทุน ผู้มีอำนาจก็ต้องใช้เงินในการสร้างฐานอำนาจให้กับตนเองเช่นกัน
เงินเป็นวัตถุอันดับแรกๆ ที่จะส่งเสริมอำนาจเพราะเงินสามารถซื้ออำนาจได้ ธุรกิจที่รุ่งเรืองก็เป็นแหล่งที่มาของเงินและอำนาจ ในยุคปัจจุบันอำนาจทางเศรษฐกิจนับว่าเป็นอำนาจที่ทรงพลังมากที่สุด จะเห็นได้ว่าประเทศมหาอำนาจอย่างเช่น ญี่ปุ่น ไม่จำเป็นต้องมีกองทัพใหญ่โต แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มั่นคง ก็สามารถเข้ามีอำนาจโลกได้ ในสัดส่วนที่เล็กลง บริษัทที่มีผลประโยชน์มากก็จะมีการคอรัปชันเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีระบบจัดที่รัดกุม
คนที่มีอำนาจมากพอที่จะอยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่สร้างมาป้องกันการคอรัปชันได้จะมีลู่ทางในการโกงกินมากโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจสิทธิขาดในหน่วยงาน การป้องกันคือเราจะต้องกระจายอำนาจไปสู่คนหลายๆฝ่าย ให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ไม่ยอมให้อำนาจมารวมอยู่ในกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
วิธีที่จะแก้ปัญหาการคอรัปชันได้ดีที่สุดคือการปลูกจิตสำนึกให้กับชาวไทย เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มีผลถาวร รัฐควรให้ความรู้คู่คุณธรรม รณรงค์ให้คนไทยรู้จักหน้าที่ของตน สามารถควบคุมตนเองได้ สอนให้เคารพกฎหมายของบ้านเมืองเราสร้างกฎเกณฑ์มามากมายขึ้นมาตรวจสอบและควบคุมพฤติกรรมของผู้มีอำนาจนั้นก็จะทำให้การคอรัปชันเป็นไปได้ยาก เพราะพวกเขาจะต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่การป้องกันนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราสร้างมาตรการขึ้นมาควบคุมกลับทำให้เทคนิคการฉ้อโกงซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม
การคอรัปชันก็เกิดจากตัวเราเองถ้าเราสามารถทำตัวเราให้บริสุทธิ์ได้ เราก็จะสามารถไปตรวจสอบผู้ที่สงสัยว่ากระทำการคอรัปชันได้อย่างโปรงใส ทุกวันนี้ระบบการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบนั้นมีมากมาย สื่อก็มีอำนาจและเสรีภาพเพียงพอที่จะสร้างกระแสทำให้สังคมเราปราศจากการคอรัปชันได้ การแก้ปัญหาไม่ได้ยากเกินความสามารถของเราเลย ขอเพียงเราต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน จากนั้นก็ส่งเสริมให้ผู้คนรอบข้างทำตาม องค์กรของเราก็จะโปร่งใส ผลประโยชน์จะกลับมาอยู่ที่ส่วนรวม ทุกๆคนก็จะมีความสุข

บทความมหาชนที่น่าสนใจจากบัณฑิตใหม่

ลองเข้าไปอ่านดูนะครับ บล็อกของติ๊กครับ
เลือกไปที่ link ด้านซ้ายมือนะครับ มีบทความดีๆด้านมหาชนรออยู่ครับ

21 July 2006

ศีล5 เท่ากับ ศีล1


ศีล 5 = ศีล 1

เขียนเมื่อตอนเป็นหัวหน้าใหญ่คณะจงรัก วชิราวุธวิทยาลัย ปี2544 ผมว่าแม้ตอนนี้ก็ยังใช้ได้อยู่เพราะเป็นธรรมที่เป็นอกาลิโกครับ
ถ้าสังเกตโลกปัจจุบันดีๆแล้วเราจะพบว่ารอบๆตัวเรานั้นมีแต่ความวุ่นวาย กระแสโลกที่ร้อนระอุไปด้วยไฟสงครามและความแตกแยกทางความเชื่อและศาสนาที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์ของวันที่ 11 กันยายน
เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก ประชาชนชาวสหรัฐฯต้องพากันหวาดระแวงการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ชาวมุสลิมในตะวันออกกลางและชาวอัฟกานิสถานอีกหลายแสนคนต้องประสบกับภาวะสงครามที่ทำลายพวกเขาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคม
เมืองพุทธเช่นประเทศไทยแม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ถ้าเรากระโจนเข้าช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยปราศจากการไต่ตรองให้ดีก็อาจจะทำให้ประเทศประสบกับความยากลำบากได้
ถ้าเราหันมาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ด้วยหลักธรรมของพุทธศาสนาให้ดีๆก็จะพบว่า การที่คนต่างๆทะเลาะกันนั้นก็เนื่องมาจากคนเหล่านั้นขาดหลักธรรมเป็นเครื่องชี้นำชีวิต หลักธรรมง่ายๆที่องค์พระศาสดาได้ทรงสั่งสอนประชาชน เช่น ศีล 5 สามารถเป็นหลักธรรมนำชีวิตของเราให้มีความสุขได้ ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จักเพราะเราต่างก็ถูกสั่งสอนและถูกบังคับให้ท่องจำจนขึ้นใจตั่งแต่หัวยังเท่ากำปั่น
ศีลข้อที่ 1. ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและเบียดเบียนผู้อื่น
2. ละเว้นจากการลักทรัพย์
3. ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. ละเว้นจากการกล่าวคำเท็จ
5. ละเว้นจาการดื่มน้ำเมาอันจะทำให้ขาดสติ
จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว ศีล 5 ก็มีหลักสำคัญอยู่เพียงข้อเดียวคือ ละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ถ้าเราทุกคนยึดมั่นในหลักธรรมนี้ สังคมก็จะสงบสุข ไม่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเช่นทุกวันนี้
ผมเชื่อว่าทุกศาสนาในโลกนี้ต่างสอนให้มนุษย์เป็นคนดี แม้ว่าจะมีหลักธรรมหรือพิธีกรรมที่แตกต่างกันแต่จุดมุ่งหมายจริงๆแล้วก็คือสิ่งเดียวกัน คือทำให้สังคมมีความสุข ทำให้มนุษย์อยู่รวมกันได้อย่างสันติ
ฉะนั้นในภาวะที่โลกกำลังวุ่นวายผมคิดว่าประเทศไทยควรจะยึดหลักธรรมคำสอนของพระศาสดา สมานไมตรีของคนในชาติเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ต้องไปวิ่งเต้นตามกระแสของสหรัฐฯ หรือให้ความช่วยเหลือรัฐบาลตาลีบัน เราควรที่จะสามัคคีกันสร้างชาติไทยให้เข้มแข็ง ให้ประชาชนไทยมีความสุขกันถ้วนหน้า
จะดีกว่าครับ

20 July 2006

มองการพนันเชิงบวก


มองบ่อนการพนันเชิงบวก: ทรรศนะในการพัฒนาสู่โลกเสรีนิยม
โดย พัชร์ นิยมศิลป[1]
การพนันในสังคมชาวไทยอยู่คู่กันมาอย่างยาวนาน การพนันจัดได้ว่าเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการชนไก่ กัดปลา บ่อนเบี้ย ทอยลูกเต๋า อันจะพบได้จากวรรณคดี หรือพงศาวดารในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้ แม้ว่าเราจะนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่การพนันก็ยังฝังรากลึกในสังคมชาวไทย แม้กระทั้งสงฆ์บางรูป(โดยเฉพาะที่ขึ้นชื่อว่าใบ้หวยแม่น)ใช้การพนันเป็นเหตุจูงใจให้คนเข้าวัด หรือคนบางพวกที่เข้าวัด คนเหล่านั้นเข้าวัดไปเพราะอยากทำบุญหรืออยากได้เลขเด็ดไปแทงหวย
เมื่อกล่าวถึงการพนัน เรามักมองการพนันเป็นเรื่องไม่ดี เป็นอบายมุข6 ที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้หลีกหนีให้ห่างไกล ผู้เขียนก็เชื่อว่าการพนันสามารถทำให้คนที่เคยขยันทำมาหากินกลายเป็นคนหมดเนื้อหมดตัว การพนันเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมอีกหลายต่อหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาทางจริยธรรม ปัญหาผู้มีอิธิพล ยาเสพติด ค้าของเถื่อน ฯลฯ ประเทศเราจึงได้มีกฎหมายควบคุมการพนันคือ พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ห้ามการเล่นการพนันหลายชนิด แต่ก็มีข้อยกเว้นคือหากได้รับอนุญาตชั่วคราวจากตำรวจ ระยะเวลาไม่เกิน 1 วัน ซึ่งจะเป็นโอกาสพิเศษต่างๆเช่น งานวัด มหกรรมสังสรรค์ เทศการงานรื่นเริง เป็นต้น โดยประเภทการพนันที่ตำรวจสามารถอนุญาตให้เล่นได้ก็จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
หากเราพิจาณาว่าจุดประสงค์ของการพนันแท้จริงคือ ความบันเทิง ความสนุกสนาน การแก้ปัญหาการพนันที่แท้จริงคือการปรับมุมมองของนักพนัน ของประชาชนทั่วไปให้มองเห็นการพนันเป็นเพียงกิจกรรมบันเทิงอย่างหนึ่ง ไม่ใช่มองว่ามันเป็นการทำกำไรโดยอาศัยโชควาสนา หรือมองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้การพนันเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการปราบปราม แต่ไม่ว่าจะสูญเสียงบประมาณไปเท่าไร เสียทรัยากรบุคคลไปเพียงใดก็ไม่สามารถขจัดปัญหาการพนันใต้ดินให้หมดไปจากสังคมไทยได้ คนไทยก็ยังคนเล่นการพนันโดยไม่จำกัดชนชั้นไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือจะมีการศึกษาหรือไม่ หรือจะจริงที่ว่ากันว่าการพนันเป็นหนึ่งในพฤติกรรมถาวรของสังคมไทยไปเสียแล้ว
โทษของการพนันนั้นผู้เขียนขอละไม่กล่าวถึงเนื่องจากทุกวันนี้ก็มีการรณรงค์ไม่ให้เล่นการพนันกันอยู่ สิ่งที่ผู้เขียนอยากเสนอคือ คุณค่าของการพนันที่หลายๆคนอาจจะมองข้ามไปหรือหลายๆคนอาจจะรับไม่ได้เพราะการพนันมันขัดกับหลักศาสนาอยู่ในตัวอยู่แล้ว กระนั้นก็อยากขอให้หันกลับมาดูในอีกแง่มุมโดยประหนึ่งว่าการพนันเป็นหน้าที่ของรัฐ (ผู้เขียนจะสมมุติว่าการพนันเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งที่รัฐควรจัดให้มี โดยเปรียบเทียบกับ การที่ฝรั่งเศสจัดให้การกีฬาเป็นบริการสาธารณะประเภทวัฒนธรรม)[2] ที่ให้รัฐเข้ามาจัดการบริการสาธารณะประเภทนี้นอกจากจะเป็นการจัดการทางวัฒนธรรมแล้วก็ยังมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศอีกด้วย
ข้อดีของการให้รัฐจัดการพนันในมิติด้านเศรษฐกิจและได้แก่ รัฐจะสามารถหารายได้อย่างมหาศาลจากฐานการพนันที่สร้างขึ้น อันจะเห็นได้จากรายได้ของกองสลากในแต่ละเดือนที่ส่งให้แก่รัฐบาลเพื่อการบริการประเทศ ดังต่อไปนี้[3]
ปีงบประมาณ 2545 = 5,456.17 ล้านบาทปีงบประมาณ 2546 = 7,504.82 ล้านบาทปีงบประมาณ 2547 = 8,872.30 ล้านบาท
รายได้ที่ได้มาก็จะนำมาพัฒนาสังคม นอกจากนั้นยังเป็นการป้องกันเงินไม่ให้ออกนอกระบบไปสู่ธุรกิจใต้ดิน และเมื่อเงินอยู่ในระบบก็จะส่งผลให้ผู้มีอิธิพลขาดรายได้และถอนตัวออกจากระบบตลาดไป เพราะเหตุนี้องค์กรอาชญากรจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากรัฐเข้ามาจัดการพนันเสียเอง

ดร.วิบูลย์แช่มชื่นประธานคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาพื้นที่ชายแดน คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารสารคดี (ปีที่17 ฉบับที่198 สิงหาคม 2544) ไว้ดังนี้ “ปัจจุบันมีบ่อนกาสิโนที่ถูกกฎหมาย อยู่รอบ ๆ บ้านเรา 22 แห่ง มีคนเข้าไปเล่นแห่งละ 700-1,000 คนต่อวัน ถ้าคำนวณจากบ่อนตามแนวชายแดนกัมพูชาราว 10 แห่ง ก็จะมีคนเล่นวันละ 1 หมื่นคน วงเงินคนละประมาณ 5 หมื่นบาท ก็จะมีเงินหมุนเวียนในบ่อนตกประมาณ 500 ล้านบาทต่อวัน นี่คิดเฉพาะชายแดนกัมพูชาเท่านั้น ถ้ารวมชายแดนมาเลเซีย พม่า และลาวแล้ว เงินจะไหลออกนอกประเทศไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาทต่อวัน และไม่น่าจะต่ำกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปีถ้ารวมการพนันทุกประเภท ขณะนี้ในประเทศไทยมีสถานการพนันเถื่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ยังควบคุมไม่ได้ มีการลักลอบเล่นการพนันกันอย่างผิดกฎหมาย ถ้าเราทำให้มันถูกกฎหมายเสีย ก็จะควบคุมได้มากกว่า จะสามารถลดหรือกำจัดระบบส่วยที่เจ้าของธุรกิจต้องจ่ายให้แก่ตำรวจเจ้าหน้าที่เจ้าพ่อหรือพวกที่มีอิทธิพลลงได้” นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า “ข้ออ้างที่ว่าเป็นการส่งเสริมให้ทำผิด หรือขัดกับหลักศาสนานั้น ก็น่าคิด แต่คนที่เล่นยังไงก็เล่นอยู่แล้ว คนที่ไม่เล่นยังไงก็ไม่เล่น ขึ้นอยู่กับระบบการศึกษา และค่านิยมของพ่อแม่ ครอบครัว การปลูกฝัง ประเทศที่เขานับถือศาสนาเคร่งครัดอย่างอิสลาม เขาก็ยังอนุญาตให้เปิดได้ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร หรือจะมีปัญหาเฉพาะคนไทยคนพุทธ ปัจจุบันมีประมาณ 128 ประเทศที่เปิดให้มีสถานกาสิโนถูกต้องตามกฎหมาย ประเทศเหล่านี้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เขาก็อนุญาตให้เปิดกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาล ทำประโยชน์มากมายให้แก่สังคม ”
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างในประเทศมาเลเซียซึ่งมีบ่อนการพนันที่ชื่อว่า Genting Highland สถานพนันแห่งนี้อยู่บนยอดเขาสูงนอกเมืองกัวลาลัมเปอร์ หากจะเรียกว่าเป็นบ่อนการพนันอย่างเดียวคงไม่ถูกนักเพราะที่เก็นติ้งไฮแลนด์นี้มีทั้งสวนสนุก สวนน้ำ โรงแรม ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ ผู้เขียนเชื่อว่า เก็นติ่งไฮแลนด์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หลักๆของกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเป็นจุดหมายของนักพนันจากเมืองไทยด้วย
ประเทศมาเลเซียมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติและการพนันก็เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา จุดที่น่าสังเกตคือทำไมเขาจึงอนุญาตให้มีบ่อนการพนัน คำตอบก็คือ เขามีมาตรการในการห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าไปพนัน ดังนั้นเราก็ตีความได้ชัดเจนว่าการพนันที่เขาสร้างขึ้นก็เป็นไปเพื่อดูดเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเป้าหมายหลักและผู้มีเงินต่างศาสนาในประเทศ เหตุที่ผู้เขียนสรุปดังนี้ก็เนื่องจาก คือ ตำแหน่งที่ตั้งบ่อนอยู่บนยอดเขายากแก่การเข้าถึง ที่พักในบริเวณใกล้เคียงก็ถูกผูกขาดโดยบริษัทที่เข้ามาบริหารค้าใช้จ่ายจึงสูงกว่าปรกติ การกำหนดเช่นนี้จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ไม่มากไม่สามารถเข้าถึงบ่อนได้ ฉะนั้นบ่อนการพนันในสายตารัฐบาลมาเลเซียก็คือเครื่องมือในการหารายได้ให้ ทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยว สร้างการจ้างงานและนำความเจริญสู่พื้นที่อีกด้วย
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยจัดว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักให้แก่ประเทศ สิ่งเป็นจุดขายได้แก่ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันสวยงาม วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนสินค้าหัตถกรรมที่ประณีตแต่สิ่งที่เราขาดคือการสร้างแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก(world class) ที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น สวนสนุกดิสนีแลนด์ ชิงช้าสวรรค์ลอนดอน(London eye) โรงแรมหรูในลาสเวกัส เป็นต้น หากเราจะผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ไทยเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยว เราก็จะต้องสร้างสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว(ที่นอกจากพัฒพงษ์และพัทยา) เอาไว้ด้วย ซึ่งแน่นอนหนึ่งในนั้นคือ บ่อนการพนัน
แนวคิดเช่นนี้มิได้เกิดในประเทศมาเลเซียเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาก็จัดให้มีบ่อนการพนันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยสร้างติดกับชายแดนเพื่อเป็นการสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยในการไปเล่นการพนัน การประมาณการค่าใช้จ่ายของคนไทยในบ่อนการพนันในต่างประเทศเพิ่มเติม ในการศึกษาปี พ.ศ.2544 ประมาณการเงินที่ลูกค้าคนไทยนำไปเล่นที่บ่อนการพนันที่กาสิโนชายแดน 34 แห่ง และกาสิโนต่างประเทศ เช่น ที่ออสเตรเลีย ลาสเวกัส มาเก๊า นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ว่าอยู่ในราว 71,000-84,000 ล้านบาทต่อปี และนักวิจัยประมาณการว่าลูกค้าคนไทยขาดทุนในราวร้อยละ 20 หรือราว 14,000-17,000 ล้านบาทต่อปี[4] จากตัวเลขที่เห็นนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก หากรัฐบาลสามารถรักษาเงินจำนวนดังกล่าวให้อยู่ในประเทศได้ก็จะเป็นผลดีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ผู้เขียนเชื่อว่าหากเรามีกระบวนการจัดการพนันที่เป็นระบบเป็นระเบียบ เราก็สามารถเปลี่ยนโทษเป็นคุณได้ และอาศัยการพนันเป็นอาวุธเพื่อสู้กับการต่อสู้บนเวทีการค้าเสรี ในอนาคตทุกๆประเทศต่างก็แข่งขันกันอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศเรามีชื่อเสียงในด้านการบริการแล้วทำไมเราถึงไม่ใช้จุดแข็งของเรา
หากสังคมไทยยังรับไม่ได้กับการเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศ ผู้เขียนขอเสนอว่าเราควรสร้างโครงการทดลองโดยกำหนดให้เป็นบ่อนเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น โดยเลือกพื้นที่ให้ห่างไกลจากชุมชน และสร้างเป็นศูนย์การบันเทิงครบวงจร(Entertainment Complex) รัฐในฐานะผู้จัดการบริการสาธารณะอาจร่วมทุนกับเอกชนดำเนินการ จากนั้นก็ศึกษาข้อดี-ข้อเสีย แล้วจึงมาทำประชาพิจารณ์ การทำเช่นนี้จะได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประมาณการณ์
อย่างไรก็ดีหากเราอนุญาตให้มีบ่อนการพนัน รัฐก็ควรจัดให้มีองค์กรที่จัดการและให้ความรู้เกี่ยวกับการพนันสำหรับชาวไทยซึ่งอาจจัดตั้งขึ้นมาในรูปคณะกรรมการอยู่ในหน่วยงานของรัฐ เป็นต้นว่า คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานกิจการกาสิโน คณะกรรมการกลั่นกรองผู้ที่จะเล่นการพนัน ผู้ที่จะเขาเล่นพนันจะถูกตรวจประวัติและคุณสมบัติเสียก่อน เช่น อายุ รายได้ ประวัติอาชญากรรม สถานภาพ เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเล่นพนันจนหมดเนื้อหมดตัวและไม่ให้คิดว่าเล่นการพนันไปเพื่อทำกำไร นอกจากนั้นรัฐจะต้องป้องกันคนที่มีรายได้ต่ำหรือนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ไม่มีรายได้ ไม่ให้เข้าสู่วงจรการพนันที่รัฐจัด นอกจากการป้องกันในขั้นต้นแล้วการจัดให้มีองค์กรที่ทำการเยียวยาหรือให้คำปรึกษาจากผู้ที่เสพติดการพนันเพราะเมื่อรัฐจัดให้มีการพนันแล้ว ผลเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดรัฐก็จะกลายเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง กล่าวโดยสรุปก็คือเมื่อรัฐจะจัดให้มีกาสิโนแล้วก็ควรที่จะจัดการรักษาผลเสียของกาสิโนที่เกิดขี้นในภายหลังด้วย นอกจากนั้นสิ่งที่น่ากลัวอีกประการหนึ่งของบ่อนการพนันของรัฐคือ การฟอกเงิน เราต้องจัดระบบป้องกันไม่ให้บ่อนการพนันของรัฐกลายเป็นแหล่งฟอกเงินของธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆไป
ในบ้านเราประเด็นเรื่องการเปิดเสรีบ่อนกาสิโนถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่เถียงกันไม่จบวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างยาวนาน แต่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมีการนำเอาหวยใต้ดินขึ้นมาเป็นสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว เมื่อครั้งหวยใต้ดินเป็นปัญหามากแล้วรัฐบาลจะจัดให้มีหวยชนิดนี้ สังคมก็ออกมาวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง เหตุผลหลักๆ ที่นำมาคัดค้านก็เหมือนกับที่เอามาเป็นข้ออ้างในกรณีบ่อนเสรีเหมือนกัน วันนี้สลากเลขท้ายทำกำไรให้กับรัฐมากมายหากจะถามว่าคนซื้อหวยเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็คงตอบกันไม่ถูก แต่สิ่งที่รู้ๆ กันก็คือเงินที่ได้จากการขายสลากเลขท้ายเป็นเงินทุนมาพัฒนารัฐ เป็นโอกาสทางการศึกษาส่งเด็กนักเรียนยากจนไปเรียนเมืองนอก อาชญากรรมที่ว่ากันว่าจะมีมากขึ้น เราก็เห็นว่ามูลเหตุหลักๆก็ยังเป็นธุรกิจที่อยู่ใต้ดิน เช่น ตามล่าลูกหนี้พนันบอล บ่อนลอยฟ้า เป็นต้น ผู้เขียนเห็นว่าตัวอย่างจากสลากเลขท้ายก็จัดว่าเป็นต้นแบบในการตั้งบ่อนกาสิโนของรัฐได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หลักการในการตั้งบ่อนของรัฐจะต้องชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อจัดให้มีสถานบันเทิงและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ
อนึ่งขอให้เทียบกับการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจกรณีเบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ได้ก็เพราะมีกระแสสังคมออกมาต่อต้านเนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรมของประชาชนโดยอ้างว่าหากให้ยอมให้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะทำให้เบียร์ถูกลงแล้วก็จะส่งผลให้คนดื่มกันมากขึ้น วันนี้เบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ผลก็คือเบียร์ช้างยังคงสามารถมากระจายหุ้นให้แก่คนไทยในประเทศไทยได้โดยผ่านนายหน้าสิงคโปร์ สิ่งที่เสียไปคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ได้ค่าธรรมเนียม โบรคเกอร์สิงคโปร์ยิ้มรับเงินอย่างสบายใจ หลักทรัพย์(สินค้า)ที่ควรจะอยู่ในตลาดไทยก็ไม่ได้อยู่ ย้อนกลับมาถามว่าทุนของเบียร์ช้างมันเพิ่มขึ้นหรือไม่ แล้วเบียร์ช้างจะขยายการผลิตได้หรือเปล่าคำตอบคือได้เพราะในส่วนผลประโยชน์ของเบียร์ช้างมันเท่าเดิมแต่ส่วนผลประโยชน์ชาติมันหายไป กล่าวรวบยอดก็คือรัฐบาลไทยควรจะมองการพนันว่าเป็นสันทนาการอย่างหนึ่ง เป็นกิจกรรมที่มีโทษแต่ก็มีประโยชน์อยู่บ้างเหมือนกัน รัฐควรเข้าจัดการโดยถือว่าเป็นภาระของรัฐที่จะเข้าควบคุมและบริหารจัดการ ดังจะเห็นได้จาก พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่เป็นเครื่องมือในการ “ปราบปราม” การพนันให้หมดไป แต่กลับเป็นบทบัญญัติที่เข้าทำการ “ควบคุม” โดยให้อำนาจตำรวจและคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาให้อนุญาตเล่นการพนัน ดังนี้แล้วเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเองก็มิได้มีเจตนาในการปราบปราม รัฐก็ควรนำพระราชบัญญัตินี้มาอนุวัฒน์ให้เข้ากับยุคปัจจุบันที่ “ทุน คือความมั่นคงของชาติ” การรักษาทุนให้หมุนเวียนอยู่ในชาติก็เหมือนกับกองทัพที่มีกำลังพลเป็นรั้วของชาติ ผู้เขียนไม่อยากให้เข้าทำนองที่ว่า “มือถือสากปากถือศีล” อันจะสังเกตได้จากปัญหาที่เกิดจากการพนันก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน การพนัน ผู้มีอิธิพล ผู้มีสี นักเลงคุมบ่อน นักเสี่ยงโชคก็ยังเป็นกลุ่มที่ยังขลุกอยู่ในวงการนี้ ส่วนประเทศไทยก็ต้องกินน้ำใต้ศอกประเทศเพื่อนบ้านต่อไป [1] นิสิตมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[2] นันทวัฒน์ บรมานันท์,สัญญาทางปกครอง ,สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ.2546
[3] ที่มา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล http://www.glo.or.th/detail.php?link=revenue
[4] เอกสารประกอบการรายงานผลการวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เรื่อง เศรษฐกิจการพนัน : ทางเลือกเชิงนโยบายศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มปท.

ยินดีต้อนรับ


สวัสดีทุกท่าน ยินดีต้อนรับสู่
Pat Republic
สาธารณรัฐแห่งฝันที่ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้