26 December 2007

General Election



ก่อนอื่นต้องขอเริ่มจับกระแสเลือกตั้ง 2550 ที่ผ่านมาก่อนนะครับ เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมใช้สิทธินอกราชอาณาจักร ตื่นเต้นดีเหมือนกันครับ กระบวนการก็ยุ่งยากกว่าเลือกตั้งในประเทศอยู่เล็กน้อย ขั้นแรกเริ่มจากต้องไปลงทะเบียนว่าจะใช้สิทธินอกราชอาณาจักรที่สถานฑูตก่อนการเลือกตั้งประมาณสองสัปดาห์(ตามประกาศของสถานฑูต) จากนั้นก่อนวันเลือกตั้งซักสามวันก็ไปตรวจสอบว่าย้ายทะเบียนมาอยู่ที่สถานฑูตกัวลาลัมเปอร์จากเวปไซค์ของกกต.ครับ ขั้นตอนนี้ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไร พอถึงวันเลือกตั้งจริงก็ปรากฎว่าไม่มีชื่อ ทำให้ใช้สิทธิไม่ได้ ผมเห็นอยู่เป็นกลุ่มๆเหมือนกันที่มาลงคะแนนแต่ปรากฎว่าไม่ได้ลงทะเบียนว่าจะใช้สิทธิ เจ้าหน้าต้องอธิบายกันยาวกว่าจะเข้าใจกัน อันนี้ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของคนไทยนะครับที่ต้องติดตามกันเอาเอง ที่มาเลนี้เลือกตั้งกันตั้งแต่วันที่ 12-16 ธันวา ครับ ที่เลือกตั้งก่อนก็เพราะว่าต้องส่งบัตรไปนับที่ประเทศไทย กระบวนการการเลือกปีนี้ค่อนข้างจะสับสนที่เดียว เริ่มจากไปตรวจสอบเขตของตัวเอง ตรวจจำนวนผู้รับสมัครสส.ที่สามารถเลือกได้ บางเขตก็คนเดียวบางเขตก็สามคน ก็ลองคิดดูละกันครับเลือกตั้งในต่างประเทศ กรรมการการเลือกตั้งที่นี้ต้องตรวจทุกเขตในประเทศไทย เพราะคนไทยในมาเลมาจากทุกจังหวัดจริงๆ จากนั้นก็ต้องไปเปิดบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำหมายเลขที่ตนจะเลือก จำหมายเลขพรรคที่ตนจะเลือก จากนั้นก็ไปเข้าคูหาเลือกตั้งครับ ที่คูหาก็คล้ายๆกับในประเทศละครับ เพียงแต่ว่ากล่องบังตาจะเป็นสีขาวแทนที่จะเป็นสีเขียว แล้วที่พิเศษขึ้นมาคือเราจะได้ซองขาวมาคนละใบ กาบัตรเลือกตั้งเสร็จก็พับใส่ซองแล้วนำซองไปให้เจ้าหน้าที่ลงนามกำกับผนึก จากนั้นก็ไปหย่อนลงกล่อง เป็นอันจบพิธีครับ

ข้อสังเกตการเลือกตั้งคราวนี้คือ

1.บัตรเลือกตั้งสับสนมากครับ โดยเฉพาะแบบบัญชีพรรค ผมละงงเลย มีแต่หมายเลขไม่มีโลโกพรรคการเมือง อ้าวทีตอนเลือกตั้งครั้งก่อนๆยังมีตราโลโกให้เห็นว่าหมายเลขใดเป็นพรรคใด ทำไมปีนี้ไม่มีละ แถมในคูหาก็ไม่มีบอกว่าหมายเลขใดพรรคใด ถ้าใครไม่ได้จำเบอร์มา หรือว่าเกิดตื่นเต้นจำเบอร์ไม่ได้ก็แย่เลยนะครับ

2.บัตรแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ อันนี้งงสุดๆครับ สมมติว่าเลือกได้สามคนแล้วผมอยากจะเลือกเบอร์ที่ไม่เรียงกัน ก็ต้องจำเข้าไป เป็นเลขหกหลัก แล้วถ้าจำผิดละ?? ที่ต่างประเทศแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์นี้ยุ่งใหญ่เพราะตอนไปดูผู้สมัครเขตตัวเองแล้ว หากดูผิดเขตก็จบกันเลยละครับ เพราะต่างเขตก็ต่างเบอร์ มั่วกันไปหมด

3.หากกาเกินจะนับอย่างไร ถือเป็นบัตรเสียหรือเปล่า?? แล้วถ้ากาผิด แล้วอยากเปลี่ยนใจขีดฆ่าอันเก่าไปกาอันใหม่ อย่างนี้บัตรเสียหรือเปล่า (แน่นอนครับลงนามกำกับไม่ได้อยู่แล้ว)

หากถามความรู้สึกจริงๆ ผมว่าผมชอบการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ตาม ร.ธ.น.40 ฉบับเก่ามากกว่า ผมว่ายุติธรรมกว่าอันใหม่นี้อีกนะครับ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คล้ายๆกับว่าเป็นการตั้งกติกาใหม่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อใครบางคนเท่านั้น หากจะวัดกันในเชิงคุณภาพและความชอบธรรม ผมว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐที่ใช้ในการเลือกตั้งตาม 40 งามกว่าแยะ

ก่อนจากกันก็ Merry Christmas & Happy New Year ครับ ขอให้มีความสุข รับฟ้าใหม่ รัฐบาลใหม่ละกันนะครับ เฮอออออ............

28 November 2007

ประท้วง

ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ไม่ได้อัพซะนานเลยครับ ช่วงนี้เรียนหนักจริงๆ ไม่มีเวลามาเขียน แค่เขียนงานส่งอาจารย์ก็ทำไม่ทันแล้วนะครับ
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมาที่มาเลเซียมีการประท้วงเรียกร้องสิทธิ ประท้วงกันในเมืองหลวงเลยละครับ แต่ที่น่าแปลกคือชนวนของการประท้วงนี้และครับ เท่าที่รู้คือที่มาเลนั้นมีปัญหาเรื่องเชื้อชาติมากๆ ต่างคนต่างอยู่ จีนฝ่ายหนึ่ง มาเลฝ่ายหนึ่ง อินเดียฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าทั้งสามฝ่ายจะสัญชาติเดียวกัน แต่เวลาแบ่งพวกแล้ว ตัวใครตัวมันครับ มาเลกุมบังเหียนอำนาจรัฐ คนจีนเป็นขุมกำลังทางเศรษฐกิจ ส่วนคนอินเดียนั้นไซร้ เป็นชนชั้นแรงงาน หนังสือพิมพ์ The Star 25-11-07 ลงข่าวภายหลังการประท้วงว่า
"The Hindu Right Action Force(Hindraf) wanted to submit a petition with 100,000 signatures collected, to petition Queen Elizabeth II to appoint a Queen's Counsel to represent the Indian community in a class action suit against the British Government for bringing Indians as labourers to the then Malaya and exploiting them"
: จำนวนเงินที่เขาเรียกร้องเป็นเงินถึง 13.5 พันล้านริงกิต (ประมาณหนึ่งร้อยสามสิบห้าพันล้านบาท)

ประเด็นที่แปลกในกรณีนี้คือ
1. ที่อังกฤษเอาบรรพบุรุษตนมาปล่อยไว้ที่มาลายามันเกิดเหตุนี้ขึ้นตั้งเกือบร้อยปีที่แล้ว มาฟ้องเอาทำไมตอนนี้
2. ทำไมไม่ฟ้องในประเทศตน แต่ไปถวายฎีกาต่อควีนอังกฤษ ทั้งๆที่มาเลเซียเป็นเอกราชตั้งแต่ 1967 (ฎีกาแบบนี้คนไทยคงคุ้นเคยนะครับ)
3. จะพิสูจน์ class action ในกรณีนี้กันอย่างไร เพราะอินเดียบางคนก็เต็มใจหอบหมอนมาเอง

เอากันเข้าไป เฮออ....

17 October 2007

Salamat Hari Raya!




Salamat Hari Raya!

ตอนนี้เป็นช่วงเทศกาล Hari Raya ครับ เป็นช่วงที่คนมุสลิมจะเฉลิมฉลองหลังจากที่ถือศีลอดมานานกว่าหนึ่งเดือน สภาพก็คล้ายๆกับช่วงเทศการสงกรานต์บ้านเราละครับ คนในเมืองก็จะกลับบ้านเกิดไปหาญาติพี่น้อง บ้างก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ผมก็ถือโอกาสพักผ่อน ไปเที่ยวกับเพื่อนๆในกลุ่ม ซึ่งนี้ก็นับว่าเป็นครั้งแรกที่กลุ่มของเราไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน กลุ่มของผมจะประกอบไปด้วยชาย ๔ หญิง ๕ เป็นญี่ปุ่นเสีย ๖ จีนมาเลย์ ๒ และไทย ๑ ดังนั้นก็ไม่ต้องสงสัยครับ ภาษาที่ใช้กันส่วนใหญ่ก็เป็นอังกฤษคำญี่ปุ่นคำ ไปเที่ยวด้วยกันคราวนี้ทำให้คิดว่าตัวมาอยู่มาเลย์คงจะพูดญี่ปุ่นได้ก่อนมาเลย์เป็นแน่แท้ สำหรับเรื่องแผนการเที่ยวส่วนใหญ่เพื่อนๆเป็นคนจัดการครับ หน้าที่ของผมมีอย่างเดียวคือ จ่ายตัง โดยเพื่อนๆยกให้ผมเป็นตากล้องประจำกลุ่ม(คงเพราะบ้าเห่อกล้องใหม่มากไปหน่อย)

Cameron Highlands ก็เหมือนกับไปเที่ยวเชียงรายละครับ อากาศที่นั้นเย็นสบาย ไม่อบอ้าวเหมือน KL (คิดว่าน่าจะอยู่ราวๆ ๑๘-๒๕) ทั้งนี้เป็นเพราะอยู่บนที่สูงประมาณพันห้าร้อยเมตรเหนือน้ำทะเล การที่ได้มาอยู่ในพื้นที่อากาศเย็นๆ นี้ทำให้คลายความเครียดไปได้เยอะครับ สถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า สวนผัก ไร่ชา ฟาร์มผีเสื้อ โชคดีที่กลุ่มของผมได้ชื้อทัวร์เดินป่าไว้ ผมเลยได้มีโอกาสไปสัมผัสป่ามาเลย์เสียที มาเดินป่าคราวนี้นับว่าทรหดที่สุดแล้วละครับ ฝนก็ตก ป่าก็ดิบมากๆ ด้วยความรกของป่าและความชื้น เวลาเดินก็ต้องระวังเป็นอย่างมาก แว่นที่ผมใส่จะขึ้นฝ้าตลอด ผมเพิ่งรู้ว่าป่าดงดิบมันมีกลิ่นของมันอยู่ เป็นกลิ่นเหม็นเน่าของซากพื้นที่อยู่ด้านล่าง นอกจากนั้นตลอดทางก็เจอไม้แปลกๆ อีกทั้งแมลงที่ไม่เคยเห็นอีกมาก ทำให้การเดินป่าของเราเพลิดเพลินไปกับความแปลกใหม่ครับ เป้าหมายของเราคือไปหาดอกไม้ The Rafflesia

ดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเดินกันกว่า๓ชั่วโมงโชคดีที่เราเจอสองดอกติดๆกัน แต่แปลกที่ว่ามันไม่ได้มีกลิ่นเหม็นเหมือนซากศพอย่างที่หนังสือบางเล่มบอกไว้ หรืออาจเป็นเพราะว่าจมูกผมมันชินกับกลิ่นเหม็นไปแล้วก็ไม่รู้ กระนั้นเมื่อได้เจอก็ทำให้เราได้ภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งเราก็เคยมาสัมผัสดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในบรรยากาศป่าดงดิบนะ เฮอออ....

03 October 2007

พม่าบุก

อยู่มาเลย์มาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว วันเวลาผ่านไปเร็วเสียจริงๆ ความเป็นอยู่ตอนนี้ก็ลงตัวเกือบหมดแล้วละครับ ทั้งที่อยู่อาศัย เพื่อน แล้วก็การใช้ชีวิต วันๆก็ไม่ได้ทำอะไรมากหรอกครับเพราะว่าเริ่มเรียนหนักขึ้นแล้ว เวลาว่างส่วนใหญ่เลยหมดไปกับการค้นคว้าหาข้อมูล โดยเฉพาะผมเองนั้นเจอปัญหาใหญ่เพราะว่าไม่ได้จบมาตรงกับสาขาที่เขาเรียนกัน ให้มาทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์มหภาคก็พอทำเนาอยู่ แต่พอเจอการวิเคราะห์แบบจุลภาคเข้าไปถึงกับหงายเก๋งไปเลยละครับ กราฟก็อ่านไม่เป็น ไม่ได้จับมาตั้งแต่ม.3 แล้ว ศัพท์ที่ใช้ก็เป็นศัพท์เฉพาะซึ่งผมไม่มีพื้นฐานอยู่เลย ดังนั้นหากจะให้ประเมินเรื่องการเรียนตอนนี้ก็จัดว่าเหมือนหัดเดินก็คงไม่ผิด
สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษจะมีอยู่สองเรื่องคือ เรื่อง Globalisation กับเรื่องการเมืองในพม่า วันนี้ขอกล่าวถึงการเมืองในพม่าก็แล้วกันครับ เพราะมีเพื่อนพม่าที่เรียนอยู่ด้วยกันอยู่กลุ่มหนึ่ง พม่าใช่ว่าจะมีแต่คนหัวโบราณนะครับ จริงๆแล้วเขาก็มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพอยู่มากที่เดียว เสียแต่ว่าคนเหล่านั้นต่างอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก สังคมพม่าคงเปรียบได้กับเมืองไทยสมัยเผด็จการทหารในยุคจอมผลต่างๆ ถืออำนาจและพวกพ้องเป็นหลัก สิ่งที่เขาพัฒนาระบบเผด็จการของเขาคือทำให้คนส่วนใหญ่เป็นทหาร เพราะเมื่อได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทหารแล้วก็มีอำนาจบาตรใหญ่ขึ้นมาเลยทีเดียว ทหารชั้นประทวนสามารถกินข้าวฟรีได้ไม่ต่างกับตำรวจเมืองไทยบางนาย อยากได้อะไรก็ขอเอาได้เลย เมื่อคนส่วนใหญ่เป็นทหาร สังคมก็พัฒนาไปแบบทหาร ไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง(ที่อาจจะเป็นประชาธิปไตย) สิ่งที่น่ากลัวสำหรับพม่าอาจไม่ใช่มีเพียงแต่ทหารที่ทรงอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อย่าง จีน สิงคโปร์ อินเดีย ฯลฯ ก็เป็นฝันร้ายสำหรับชาวพม่าเช่นกัน เพราะประเทศเหล่านี้ต่างก็มีผลประโยชน์มากมายทับซ้อนอยู่กับรัฐบาลทหาร หากรัฐบาลล้มความเสี่ยงก็จะเกิดขึ้นกับโครงการต่างๆของประเทศเหล่านี้ แต่ถ้ามองในมุมของชาวพม่า ทรัพยากรของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นของกลุ่มทหารเพียงกลุ่มเดียว ชาวพม่าควรได้รับประโยชน์จากการลงทุนอย่างคุ้มค่าที่สุด ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย เช่น ไนจีเรีย มีน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอยู่แยะ แต่คนไนจีเรียก็ยังจนอยู่ เวเนซูเอล่า ก็เหมือนกัน คนรวยมีแต่ผู้นำประเทศกับนักการเมือง อย่างไรก็ตามผมมองในมุมของคนไทย พอวิจารณ์เขามากๆ มองดูเมืองไทยแล้วประวัติศาสตร์เราก็ไม่ต่างกัน ผู้นำก็ไม่ได้ยึดหลักกติกาบ้านเมืองเท่าไร ไม่เชื่อลองนับจำนวนรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกดูซิครับ

28 September 2007

Shame Burmese Junta



ขอประณามการใช้ความรุนแรงกับพระสงฆ์และผู้ประท้วงในพม่า
ขอประณามเผด็จการบ้าอำนาจ
ก้องสรรเสริญ ออง ซาน ซู จี
ขอให้รัฐบาลทหารจงอับจน

27 September 2007

ไหว้พระจันทร์



วันอังคารที่ผ่านมา(๒๕) ผมได้มีโอกาสไปฉลองเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ เทศกาลนี้จริงๆแล้วเขาจัดให้เฉพาะคนจีนที่อยู่ในหอพักสิบสอง(ที่ผมพักอยู่เท่านั้น) สองวันก่อนหน้านี้ผมเห็นว่าเขากำลังเตรียมงานกันผมเลยหาทางมาร่วมฉลองกับเขา ผมเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมของคนจีนและหากได้รู้จัดคนจีนที่นี้บางก็คงจะมีเพื่อนต่างเชื้อชาติอีกหลายคน เสียอย่างเดียวคือ ผมพูดภาษาจีนไม่ได้ ซึ่งนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญทีเดียวละครับเพราะสมาคมคนจีนย่อมไม่ใช้ภาษาอื่นในการสื่อสารอยู่แล้ว

พอใกล้ถึงวันงานผมก็ไปชวนเพื่อนที่เรียนโปรแกรมเดียวกันที่หอข้างๆ เป็นชาวจีน(เคยอยู่ในสมาคมนี้มาก่อน)ให้มาเป็นล่ามให้ วิธีของผมได้ผลครับ ผมเข้าสมาคมชาวจีนได้อย่างง่ายดายที่เดียว ตอนแรกก็มีเพื่อนคอยแปลให้แต่หลังๆ พวกนักเรียนจีนมันเห็นว่าลำบากมันเลยพูดอังกฤษกับผมเองซะเลย มาอยู่ที่หอแรกๆ เห็นเขามีหลายเชื้อชาติหลายภาษาก็คิดว่าเขาอยู่กันอย่างสมานฉันท์ แต่พอรู้จักเข้าจริงๆแล้วรู้สึกได้ว่าประเทศนี้มีปัญหาด้านเชื้อชาติไม่น้อยเหมือนกันความเห็นผมคิดว่า ชาวจีนในมาเลย์ถูกจัดให้เป็นชนชั้นสองรองจากชาวมาเลย์ หากจะพูดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ หรือความเสมอภาค ตามแนวคิดตะวันตกหรืสิทธิมนุษยชนแบบฝรั่งเศสในประเทศนี้ก็ลืมไปได้เลยครับ ที่เขาอยู่ร่วมกันได้เพราะเขาแยกกันอยู่ครับ ประมาณว่าไม่ทะเลาะกัน แต่ก็ไม่อยากคบกัน เรื่องนี้คงต้องสัมผัสกันไปอีกซักพักละครับถึงจะวิจารณ์ได้ ขอติดไว้ก่อนละกันนะครับ

เทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ก็เหมือนกันงานรับน้องใหม่บ้านเราละครับ นิสิตจะถูกแบ่งออกเป็นบ้านๆ (ผมก็ติดไปอยู่ในบ้านหนึ่งไปโดยปริยาย) พวกน้องๆต้อนรับผมดีมากๆ คิดไปคิดมาพวกชาวจีนตอนรับเราดีกว่าพวกมาเลย์แท้ๆซะอีก จนบางทีผมคิดว่าผมอาจจะหัดภาษาจีนกลางแทนที่จะเอาดีกับภาษามาเลย์ซะแล้วละครับ ผมกับน้องๆเล่นเกม ร้องรำทำเพลง ใต้พระจันทร์ดวงโต และที่ผมชอบที่สุดคือการเดินถือโคมไฟกระดาษไปรอบๆหอครับ(คงเป็นเพราะเป็นเด็กชอบเล่นกับไฟเลยทำให้ผมสนุกเป็นพิเศษ) บรรยากาศดีมาก อากาศเย็นๆเดินถือโคมไฟ ดูหมวยๆ เล่นดอกไม้ไฟ..... เฮออ เหมือนอยู่ในฮ่องกงเลย.....

พองานจบผมได้เพื่อนใหม่มาอีกโหล เป็นชาวจีนซึ่งผมคิดว่ายากที่จะเจาะกลุ่มเข้าไปได้(เพราะเขาสามัคคีกันมากและไม่ยุ่งกับพวกมาเลย์หรืออินโดที่ผมคบที่หอ) นอกจากนั้นในกลุ่มเพื่อนใหม่ยังมีนิสิตนิติศาสตร์ร่วมอยู่ด้วยอีกสองคน คิดว่าอนาคตอันใกล้เด็กนิติฯ จุฬา คนนี้จะไปเยือนถิ่นนิติฯมาลายา ครับ ไว้คอยติดตามละกันนะครับ

22 September 2007

เพื่อนๆของนักเรียนไทยในต่างแดน


เพื่อนๆของนักเรียนไทยในต่างแดน

ถึงตอนนี้ก็พ้นสัปดาห์ที่สองแล้วครับ ตอนนี้ก็เริ่มรู้อะไรเป็นอะไรบ้างแล้วละครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้ก็คือ การทำความรู้กับเพื่อนใหม่ๆแล้วก็หากลุ่มให้กับตัวเองซะ ผมคิดว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ว่าที่ใหนก็ตามหากเราได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ดี มีความสามารถและสามัคคีกัน เราก็จะพากันมีความสุขไปเอง นอกจากนั้นกลุ่มเพื่อนๆจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเราตลอดระยะเวลาการศึกษาอีกด้วย การเลือกคบเพื่อนที่ม.มาลายานี้แตกต่างกับจุฬาฯเป็นอย่างมากเลยครับ ทั้งนี้เนื่องจากหลักสูตรที่ผมเรียนอยู่ประกอบไปด้วยคนหลายชนชาติหลากเชื้อสาย คนยุโรปก็จะจับกลุ่มกับคนยุโรป คนจีนก็จะจับกลุ่มกับคนจีน แขกอินเดียก็อยู่ด้วยกันกับมาเลย์ ส่วนคนไทยนั้นก็จะอยู่กับคนลาว(พูดภาษาเดียวกันไงครับ) นั่งกันเป็นกลุ่มๆดูแล้วเหมือนกับเป็นทวีป สำหรับผมก็เวลาเรียนก็จะติดอยู่กับกลุ่มสาวๆมาเลย์(พอดีมีแม่ยกอยู่ในนั้น) ส่วนเวลาเล่นหรือเวลาไปกินข้าวก็จะไปกับคนจีนกับญี่ปุน โดยเฉพาะช่วงหลังๆจะติดไปกับญี่ปุ่นเป็นหลัก ขนาดที่ว่าคนมาเลย์ยังมาพูดญี่ปุ่นใส่ก็มี(นึกว่าเราเป็นญี่ปุ่นมั้ง) จะว่าไปหน้าตาผมก็เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะเวลาไปสั่งข้าว พวกแขกมาเลย์ก็จะนึกว่าเป็นคนจีนมาเลย์ ก็พูดมาเลย์ใส่ ส่วนเวลาไปสั่งร้านจีน พวกจีนก็พูดจีนกลางใส่ เวลาอยู่กับญี่ปุ่นก็โดนเหมาร่วมว่าเป็นญี่ปุ่นซะอีก แต่จะว่าไปผมก็แอบภูมิใจอยู่เหมือนกันนะ(ป.ปรื๋อโกอินเตอร์)

คนมาเลย์เรียกผมว่า "ปัด" เพราะออกเสียงอักษร P ไม่ได้

คนยุโรปกับอเมริกัน เรียกว่า "แพด" ตามที่มันเคยชิน

พวกยุ่นเรียกผมว่า "พัดโต่ะ"

ส่วนแฟนผมเรียก "เจ้าอ้วน" มั่ง "พ่อพุ่งโต" มั่ง ++? เฮอออออ.................

ผมเสียดายโอกาสคนไทยที่มาทุนเดียวกันอยู่เหมือนกัน พวกเขาจับกลุ่มอยู่ด้วยกันเองเรียนด้วยกันเที่ยวด้วยกัน พอเวลาอยู่ด้วยกันเองก็พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้พูด ต่างกับพวกญี่ปุ่นที่ยามที่เราเข้าไปนั้งอยู่ด้วยเขาจะพูดภาษาอังกฤษเพื่อให้เราไม่รู้สึกถูกโดดเดี่ยว(ยกเว้นเวลามันนินทาเรานะครับ มันจะพูดญี่ปุ่นกันแล้วหันมามองเราด้วยหางตาเหมือนในการตูนเลย) แต่ก็ไปว่าเขาไม่ได้เราพี่ๆคนไทยที่มาด้วยกันแก่กว่าผมเกือบรอบ เขาคงยังเขินที่จะพูดอังกฤษกันเอง ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไทยเรียนภาษาอังกฤษมากว่าสิบสองปีแต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้(เพราะไม่ได้ใช้นั้นเอง)

20 September 2007

ห้อง หอ มาลายา


ครั้งนี้ขอเปิดประเด็นถึงเรื่องระบบการจัดหอในของมหาวิทยาลัยมาลายา ผมคิดว่าผมทำลายสถิติของนักเรียนต่างชาติที่มาเรียนโปรแกรมเดียวกันซะแล้ว กล่าวคือ ตั้งแต่มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผมย้ายห้องหอมาแล้ว 4 ครั้ง(สองหอ) ภายในเวลาสิบวัน ถือได้ว่าผมมีประสบการณ์มากที่เดียวสำหรับที่อยู่อาศัยในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ที่นี้เขาจะจัดให้มีหอในจำนวนสิบสองหอ แต่ละหอก็เป็นอิสระออกจากกัน หากใครที่เคยไปเยี่ยม Oxford ก็คงจะทราบว่ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษจะแบ่งเป็น College มหาวิทยาลัยมลายาก็เกิดในยุคอาณานิคม ดังนั้นก็ไม่แปลกอะไรที่ระบบการจัดการของมหาวิทยาลัยที่นี้จะคล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยอังกฤษ แต่ละหอจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน บางหอเก่งกีฬา บางหอมีสมาคมนักเรียนจีน บางหอก็เหมาะสำหรับสตรีมุสลิม บางหอรับเฉพาะนิสิตปริญญาโท ตอนแรกนั้นผมอยู่หอสิบเอ็ด ซึ่งเป็นหอสำหรับพวกบัณฑิตศึกษา แต่ด้วยสภาพห้องที่ด้อยคุณภาพประกอบกับอากาศที่ร้อนชื้นทำให้ห้องเหม็นอับเกือบตลอดเวลา ผมอยู่ได้คืนเดียวก็ต้องขอย้าย ตอนแรกก็ย้ายในหอ แต่ต่อมาก็ทนไม่ไหวอีกเหมือกันเพราะห้องที่เขาจัดให้มันเป็นห้องเหลือที่ไม่มีใครเขาเอา โดยปรกตินิสิตจะเขาเรียนประมาณมิถุนายน(เหมือนบ้านเรา) แต่ด้วยความที่เราเป็นนักเรียนอินเตอร์ เปิดเทอมช้ากว่าเพื่อน เพื่อนๆ น้องๆ ก็เลยหยิบชิ้นปลามันไปหมด โธ่....เวรกรรม หลังจากนั้นผมก็ไปเจอเพื่อนชาวอินโดคนหนึ่งกำหลังหารูมเมตอยู่เลยไม่ลังเลใจ ตอบตกลงหอบข้าวของย้ายมาทันที ปรากฏว่าสิ่งที่ได้รับคือ ผมนอนไม่หลับไปอีกเกือบสัปดาห์เนื่องจาก พ่อหนุ่มคนนี้มันสูบยาหนักมากแถมสูบในห้องที่เรานอนอีกด้วย ไอ้เราก็เป็นเด็กดี ไม่สูบบุหรี่ โดนควันบุหรี่เข้ามากๆก็เกิดอาการแพ้ซิครับ แค่สูบบุหรี่นะมันยังพอทนเพราะใครๆที่นี้ก็สูบกัน(แล้ววันหลังจะเปิดประเด็นเรื่องนี้นะครับ) พี่อินโดแกเล่นห้ามผมเปิดพัดลมกับหน้าต่างเวลานอนเพราะมันเป็นภูมแพ้ ถูกพัดลมเป่าแล้วเวลาตื่นมาจะเป็นหวัด ตรงนี้แหละที่ทำเอาผมฟิวส์ขาด ประเทศมาเลเซียอยู่บริเวณศูนย์สูตรมีสภาพอาการร้อนชื้น นี้เล่นปิดห้องสูบยา นอนในห้องอับๆ(ที่อัดควัน) ใครจะไปทนไหวละครับ คิดไปคิดมาแย่กว่าห้องเดิมที่ย้ายออกมาอีก ผมเลยขอย้ายไปอยู่กับชาวจีนแทน โชคดีที่ยังมีที่ว่างผมก็หอบผ้าหอบผ่อนย้ายหนีควันอินโดมาอยู่กับจีน แต่กระนั้นผมก็ยังไม่เจอเมตคนนี้ครับ เพราะว่าเขายังไม่ย้ายเข้ามาตอนนี้อยู่คนเดียว นอนตีพุงสบายแฮ ไม่รู้ว่าจะหนีแขกอินโดมาปะเจ็กหรือเปล่านะ?

19 September 2007

Urbanization เมืองมาก่อนหรือถนนมาก่อน?

ผมได้มีโอกาสไปทานอาหารเย็นกับศิษย์เก่ามาเลย์คอล์เลจ (MACOBA) ชื่อพี่ริซัล ผมกับพี่ริซัลรู้จักกันมาก็ประมาณสามปีเห็นจะได้ พี่ริซัลแกเพิ่งซื้อบ้านใหม่ห่างออกไปจากเคแอลประมาณ 45 นาที เลยชวนผมไปเที่ยวบ้านแก ผมสังเกตได้ว่าการพัฒนาที่ดินของเขามีคุณภาพมากๆ มีการวางผังเมืองเป็นอย่างดี กล่าวคือเริ่มแรกจะสร้างถนนหนทางให้ดีซะก่อนจากนั้นก็จะให้เอกชนเขามาจัดสรร เป็นหมู่บ้านจัดสรร บ้านเมืองเลยดูเป็นระเบียบมาก ผิดกับประเทศไทยที่การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบเท่าไรนัก สร้างแล้วก็ทุบ ทุบแล้วก็สร้าง ใช้ได้ไม่กี่ปีก็เกิดโครงการใหม่ก็ทุบของที่เพิ่งสร้างแล้วเริ่มไม่กันอีกครั้ง แม้ว่าเมื่อหลายปีที่แล้วกทม.มีโครงการถนนปลอดการขุดแต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผมก็ยังเห็นถนนหลายสายถูกทุบกันอย่างสนุกมืออยู่ดี

การผังเมืองนับว่ามีความสำคัญมากใดด้านการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากร ผมเห็นการวางแผนสร้างเมืองของเขาแล้วก็ประทับใจมากๆ เขาสร้างสาธารณูปโภคไว้เรียบร้อย ถนนคุณภาพเยี่ยมมีทางด่วนรองรับ น้ำ ไฟ เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คนจะย้ายเขามาอยู่อาศัยเสียอีก การวางผังเมืองของที่นี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของชาวไทยได้ หากเราวางแผนมาดีๆแล้ว ปัญหาเรื่องค่าชดเชยสนามบินสุวรรณภูมิคงไม่เกิดหรอกครับ มีที่ไหนสนามบินสร้างมาสี่สิบกว่าปี คนก็ดันไปซึ้อบ้านใกล้กับบริเวณสนามบินทั้งๆที่ก็รู้อยู่ว่าอาจจะหนวกหูได้หากสนามบินสร้างเสร็จ เรื่องสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นอีกบทเรียนหนึ่ง(ที่คนไทยไม่เคยสำนึก)ของการไม่วางแผนล่วงหน้าที่ดี

Urbanization เมืองมาก่อนหรือถนนมาก่อน?

ผมได้มีโอกาสไปทานอาหารเย็นกับศิษย์เก่ามาเลย์คอล์เลจ (MACOBA) ชื่อพี่ริซัล ผมกับพี่ริซัลรู้จักกันมาก็ประมาณสามปีเห็นจะได้ พี่ริซัลแกเพิ่งซื้อบ้านใหม่ห่างออกไปจากเคแอลประมาณ 45 นาที เลยชวนผมไปเที่ยวบ้านแก ผมสังเกตได้ว่าการพัฒนาที่ดินของเขามีคุณภาพมากๆ มีการวางผังเมืองเป็นอย่างดี กล่าวคือเริ่มแรกจะสร้างถนนหนทางให้ดีซะก่อนจากนั้นก็จะให้เอกชนเขามาจัดสรร เป็นหมู่บ้านจัดสรร บ้านเมืองเลยดูเป็นระเบียบมาก ผิดกับประเทศไทยที่การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบเท่าไรนัก สร้างแล้วก็ทุบ ทุบแล้วก็สร้าง ใช้ได้ไม่กี่ปีก็เกิดโครงการใหม่ก็ทุบของที่เพิ่งสร้างแล้วเริ่มไม่กันอีกครั้ง แม้ว่าเมื่อหลายปีที่แล้วกทม.มีโครงการถนนปลอดการขุดแต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผมก็ยังเห็นถนนหลายสายถูกทุบกันอย่างสนุกมืออยู่ดี

การผังเมืองนับว่ามีความสำคัญมากใดด้านการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากร ผมเห็นการวางแผนสร้างเมืองของเขาแล้วก็ประทับใจมากๆ เขาสร้างสาธารณูปโภคไว้เรียบร้อย ถนนคุณภาพเยี่ยมมีทางด่วนรองรับ น้ำ ไฟ เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คนจะย้ายเขามาอยู่อาศัยเสียอีก การวางผังเมืองของที่นี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของชาวไทยได้ หากเราวางแผนมาดีๆแล้ว ปัญหาเรื่องค่าชดเชยสนามบินสุวรรณภูมิคงไม่เกิดหรอกครับ มีที่ไหนสนามบินสร้างมาสี่สิบกว่าปี คนก็ดันไปซึ้อบ้านใกล้กับบริเวณสนามบินทั้งๆที่ก็รู้อยู่ว่าอาจจะหนวกหูได้หากสนามบินสร้างเสร็จ เรื่องสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นอีกบทเรียนหนึ่ง(ที่คนไทยไม่เคยสำนึก)ของการไม่วางแผนล่วงหน้าที่ดี

16 September 2007

รถเมล์มาเลย์


สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางในKLคนเดียวหลายครั้งแล้วละครับ ส่วนใหญ่ก็จะใช้รถเมล์กับรถไฟฟ้าเป็นหลัก พูดถึงรถเมล์ที่นี้แล้วก็มีลักษณะแตกต่างไปจากบ้านเราอยู่มาก ระบบขนส่งมวลชนที่เคแอลนี้จัดว่าออกแบบได้ดีทีเดียว มีรถไฟฟ้าอยู่หลายสาย แต่ที่วันนี้จะเล่าให้ฟังคือรถเมล์เมืองกรุง
รถเมล์ที่นี้แบ่งออกเป็นสองประเภท คือรถเอกชน กับรถของรัฐ ถ้าเป็นรถเอกชนก็จะมีลักษณะคล้ายรถเมล์บ้านเราอยู่มาก ส่วนรถรัฐนั้นก็จะมีลักษณะคล้ายๆกับรถเมล์รุ่นใหม่ในลอนดอน คือมีคนขับคนเดียว เป็นทั้งคนออกตั๋วและคนขับในเวลาเดียวกัน(พูดง่ายๆก็เหมือนกับขึ้นไมโครบัสนั้นแหละครับ)
วัฒนธรรมการใช้รถเมล์ที่นี้ไม่เหมือนกับไทยเลยละครับ คนกรุงส่วนใหญ่ไม่นิยมรถเมล์เสียเท่าไร ทั้งนี้ก็เพราะว่าหากท่านเป็นคนชั้นกลางแล้ว คงจะหาซื้อรถขับได้ไม่ยาก ทั้งนี้ก็เนื่องจากประเทศนี้มีรัฐวิสาหกิจที่ผลิตรถยนต์ถึงสองแห่ง รูปร่างรถก็มีตั้งแต่รถเล็กๆราคาแสนกว่าๆ ไปจนถึงระดับน้องๆBMW นอกจากนั้นหากเป็นคนจนก็นิยมซื้อมอไซค์ขับมากกว่าที่จะนั่งรถเมล์ รถเมล์ที่นี้เลยมีไม่มากเท่ากับกรุงเทพฯ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย เป็นประเภทเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณครับ
คนที่ต้องการจะใช้บริการก็จะต้องไปนั่งคอยที่ป้ายรถเมล์ แต่ละคันจะมีรอบของตัวเองโดยปรกติจะมาประมาณ สิบห้า ถึงยี่สิบนาทีต่อคัน แต่บางสายอาจกินเวลาถึงสี่สิบห้านาที เรียกว่ารอกันเหงือกแห้งเลยละครับ ส่วนเวลาขึ้นก็ต้องขึ้นด้านหน้าแย่งกันขึ้นเหมือนกับคนไทย เวลาลงก็แย่งกันลงไม่ต่างกัน ต่างกันที่นั่งไม่สบายเหมือนกับรถยูโรทูที่บางกอกก็เท่านั้น
สำหรับราคาก็เรียกว่าสมเหตุสมผล อยู่ระหว่าง สิบบาทถึงสามสิบ ขึ้นอยู่กับระยะทาง ระบบโดยร่วมก็เหมือนกับรถเมล์ลอนดอนที่แบ่งออกเป็นโซนๆ แต่ละโซนก็มีราคาแตกต่างกัน หรืออาจจะเป็นผมบ้านเราเองที่แปลกก็ไม่รู้เลยรู้สึกว่ารถเมล์ที่นี้เชื่องช้าเหมือนช้างตัวโตๆ คงหากอยู่ไปซักพักคงจะเชื่องช้าตามเขาเป็นแน่แท้

15 September 2007

He may be a professor, but he isn't a scholar.

15/9/2007, 9:18 AM

เมื่อวาน(14 ก.ย. 50) ตื่นเช้ามาลงไปโรงอาหารหอถึงกับมึน เพราะแปดโมงกว่าแล้วโรงอาหารยังปิดหมดทุกร้าน สาเหตุหรือครับ ก็เนื่องจากเป็นเทศกาลรอมาฎอน ชาวมุสลิมจะถือศีลอด ไม่ทานอาหารตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกเลยละครับ ผมก็ตกใจซิตอนแรกไม่รู้นิว่าจะเริ่มวันนี้ แล้วทำไงได้ละครับอาหารก็ไม่มีตุนไว้ อดกินข้าวไปครึ่งวันโชคดีที่ตอนเที่ยงๆมีร้านอาหารเปิดบ้างเลยพอเอาตัวรอดมาได้

ช่วงนี้ยังไม่มีการเรียนการสอน ผลเลยถือโอกาสออกไปเที่ยวใน KL คนเดียวเป็นครั้งแรก นั้งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้า สะดวกดีเหมือนกันนะครับ เสียแต่ว่าระบบป้ายบอกสัญญาณ กับภาษาที่เขาใช้บางทีมันมีแต่ มาเลย์กับจีน ไม่มีภาษาอังกฤษ ก็เลยต้องถามไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้คำตอบที่ต้องการ ผมก็ไปดูตึกเปโตรนาสตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก(แหง ดิ ก็ บินลาเดนมันถล่มWTCไปแล้วนิ) แต่ก็อยู่ได้แต่ข้างล่างละครับ เดินเล่นในศูนย์การค้าได้อารมณ์เหมือนเดินในสยามดิส ผมว่ายังเอามาเทียบกับพารากอนหรือเอ็มโพบ้านเราไม่ได้หรอกครับ ของเราดีกว่าหลายขุมนัก มันสะดวกหน่อยตรงที่รถไฟฟ้าใต้ดินผ่านใต้ตึก ไม่ต้องเดินออกไปนอกตึกให้เสียเวลา จริงๆแล้วที่มาเดินเปโตรนาส(KLCC) ก็เพราะว่านัดกับ Dato Latt (ต่อไปจะเรียนว่าพี่แลต) ไว้ ผมกับพี่แลตรู้จักกันมากว่าเจ็ดปีแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียนอยู่วชิราวุธฯ ตอนนั้นกลับจากทุนพระยาปรีชานุสาสน์(Shrewsbury School)ใหม่ๆ โรงเรียนเลยให้ไปรับแขกต่างชาติ ผมกับพี่แลตสนิทกันมากเรียกว่าเกือบทุกครั้งที่พี่เขามาเมืองไทยเราต้องหาเวลานัดกัน หรือไม่ก็โทรคุยกัน ระหว่างที่รอพี่แลตผมไปเดิน Kinokuniya หา lonely planet มาอ่าน หนังสือที่นี้ถูกมากเพราะรัฐบาลเขาไม่เก็บภาษีกระดาษ/หนังสือ เพื่อจะส่งเสริมให้คนซื้อหนังสืออ่าน ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากเลยละครับ เพราะเมื่อหนังสือราคาถูกก็เท่ากับว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น หลังจากซื้อหนังสือแล้วก็มาหามุมดีๆใน food court อ่าน ไปจิบกาแฟไป มีความสุขจริงๆ

พี่แลตส่งรถมารับเป็นรถประจำตำแหน่งมีตราวีไอพีติดข้างหน้าอีกตั้งหาก แถมจอดหน้าห้างที่เข้าห้ามคนทั่วไปจอดได้อีกด้วย ตอนแรกก็รู้สึกประหม่าอยู่เหมือนกัน เอาละไหนๆก็มาแล้ว รถก็วนมารับพี่แลตที่โรงแรมแห่งหนึ่ง จากนั้นพี่แลตก็บอกว่าจะพาไปพบกับท่านทูต ผมก็นึกในใจว่า ดีละจะได้ให้พี่แลตฝากฝังให้ อีกทั้งเราก็ยังไม่ได้มารายงานตัวต่อสถานทูตตามใบสั่ง ก.พ. ด้วย รถก็วนไปวนมา มาจอดหน้าบ้านหลังหนึ่ง สังเกตสิ่งผิดปรกติคือธงหน้าบ้านมันมีสามสีนิ แถมคนยังเต็มบ้านอีกด้วย ทุกคนแต่งกายอย่างเรียบร้อย ผู้หญิงก็สวมชุดราตรี ส่วนคุณผู้ชายก็สวมเสื้อนอกสีดำ แต่ปลดกระดุมคอ ส่วนผมสวมเสื้อเชิตแขนสั่นกางเกงยีน มารู้จากพี่แลตอีกทีว่าคืนนี้ท่านทูตอิตาลีเชิญทูตนานาชาติกับนักธุรกิจที่สำคัญมาเลี้ยงอาหารเย็น ทำเอาผมอึงไปเลย ตอนแรกก็ทำอะไรไม่ค่อยถูกได้แต่ยืนยิ้ม พอถึงเวลานั่งโต๊ะอาหารเขาจัดชื่อและที่นั้งไว้หมดแล้ว ผมก็ไปนั่งในตำแหน่งภรรยาพี่แลต(ซึ่งไม่ได้มาในวันนี้) ด้านซ้ายเป็นทูตชิลี ด้านขวาเป็นทูตไอแลนด์ ถัดไปเป็นนักธุรกิจมาเลย์อีกสองท่าน และก็นักธุรกิจอินเดีย ส่วนพี่แลตหรือครับ นั่งถัดไปอีกสองโต๊ะ แถมหันหลังให้กันอีก โอ้.. เหมือนโดนแกล้ง ตอนแรกก็ไม่มีใครคุยด้วยและก็ไม่รู้จะคุยกับใคร เพราะเรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับโครงการใหญ่ๆ การลงทุน นโยบายเศรฐกิจของมาเลย์ อะไรทำนองนี้ ทุกคนมีส่วนได้เสียกันหมด ยกเว้นผมซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลย แต่แล้วท่านทูตไอแลนด์(ท่านยูจิน) ก็ถามว่า "แล้วเราละ มาอยู่ตรงนี้ได้ไง" เพราะท่านก็คงงงว่าทำไมคนไทยมากับ รมช.มาเลย์ (แต่ทูตไทยไม่มา) ผมก็พยายามบอกว่าผมได้รับทุนรัฐบาลมาเรียนแล้วพอดีรู้จักพี่แลต เลยถูกลักพาตัวมา

ท่านทูตยูจินคุยสนุกมากท่านเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไอริชให้ฟัง แล้วก็ชีวิตในวัยเรียนของท่านที่ประเทศไอแลนด์ เรื่องที่ผมประทับใจมากคือ ตอนที่ท่านเรียนโทอยู่ ท่านมีอาจารย์เป็นชาวอังกฤษซึ่งมีบุคลิกแบบคนอเมริกัน สูบบุหรื่ในห้องเรียน ชอบมองผ่านปลายจมูกทำให้ดูยิ่ง โดยรวมคือทำเอานักเรียนขวัญเสียได้ในบางครั้ง วันหนึ่งท่านเข้าไปเสนอวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ผู้นี้ ท่านอ่านผ่านๆแล้วบอกว่าการอ้างอิงยังไม่ดี ไม่เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีลักษณะทางวิชาการ ในขณะที่ท่านทูตจะเถียงว่าก็อ้างอิงมาเยอะแล้วนิ อาจารย์ก็ตัดบทว่า "ผู้เขียนหนังสือที่คุณอ้างแม้จะเป็นศาสตราจารย์ แต่เขาไม่ได้เป็นนักปราชญ์"(He may be a professor, but he isn't a scholar.) คำนี้แหละครับที่ผมชอบมาก เพราะการเป็นนักปราชญ์นั้นต่างกับศาสตราจารย์หลายขุมนัก ผมกับท่านทูตยิ่งคุยยิ่งสนุกคอ เราแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในประเทศไทย(เพราะท่านก็เป็นทูตประจำประเทศไทยด้วย) การเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์กับการปกครอง การปฏิวัติ ฯลฯ พินิจแล้วท่านคงจะติดใจผมมากขนาดที่ให้ผมนัดท่านทานข้าวเย็นด้วยกันอีก ท่านว่าจะเล่าประวัติศาสตร์การเมืองในยุโรปให้ฟังและจะแถมให้ด้วยว่าทำไมการเมืองไทยจึงประสบปัญหา

หลังจากทานอาหารเสร็จก็มาจับกลุ่มคุยกับคนอื่นๆอีก นับว่าเป็นการออกงานในมาเลย์ครั้งแรกที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน แต่ก็ไม่เลวทีเดียวนะครับ เพราะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พี่แลต surprise แบบนี้ แต่คราวนี้ต้องติจริงๆว่าน่าจะบอกกันหน่อยนะ จะได้แต่งตัวให้มันเหมาะสมกว่านี้ เอาละอย่างไรก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เจอผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้(แม้จะนุ่งกางเกงยีนก็ตาม)

14 September 2007

สี่วันแรกในมาเลย์

นี้ก็เป็นวันที่สี่แล้วในมหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยที่จัดว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์นั้นมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงมากที่เดียว หากให้เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยของไทยก็คงเปรียบได้กับจุฬาฯหรือธรรมศาสตร์นั้นแหละครับ สำหรับหลักสูตรที่ผมมาเรียนก็จะเป็น International Master of ASEAN Studies หลักสูตรนี้จะประกอบไปด้วยนักเรียนทุนจากประเทศอาเซียนต่างๆ (แต่รุ่นผมมี 3 ประเทศที่ไม่ส่งมาคือ สิงคโปร์ กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์) นอกจากนั้นยังมีบางส่วนที่มาจากประเทศ ญี่ปุน จีน ปากีสถาน อิตาลี ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา สรุปแล้วโดยร่วมก็เป็นโปรแกรมที่รวมคนหลายๆเชื้อชาติมานั่งถกเถียงกันในประเด็นต่างๆที่ผู้เขียนหลักสูตรวางไว้ เท่าที่ได้รับฟังมาก็นับว่าน่าสนใจทีเดียวครับ จุดที่น่าสักเกตก็คือทุกคนที่มาเรียนโครงการนี้ต่างก็ได้รับทุนทั้งนั้น เพื่อนๆของผมจึงจัดได้ว่ามีคุณภาพในระดับหนึ่งทีเดียว แม้ว่าจะไม่ได้เป็น Top class แต่ก็มีสติปัญญา

นอกจากเรื่องเรียนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือเรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่และอาหารของชาวมาเลย์เซีย ประเทศมาเลยเซียประกอบไปด้วยเชื้อชาติ 3 ประเภทหลักๆ คือ มาเลย์ จีน และ อินเดีย ทั้งสามเชื้อชาติอยู่ร่วมกันโดยต่างก็รักษาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างดีที่เดียว เช่น ภาษาที่ใช้ อาหารการกิน วัฒนธรรมการใช้ชีวิตและความเชื่อ แต่การที่ได้เห็นความแตกต่างแต่ไม่แตกแยกของคนที่นี้ก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย

ตอนนี้ผมได้เพื่อนร่วมห้อง(Roommate)เป็นชาวอินโดนิเซีย เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมาระยะหนึ่งเขาจึงไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของเรามากนัก ปัญหากลับอยู่ที่ผมเองที่บางทีก็ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของเขา เช่น เรื่องการสูบบุหรี่ คนอินโดสูบบุหรี่จัดมาก ประการนี้รวมไปถึงชาวมาเลย์บางส่วนด้วยนะครับ มีคนบอกว่าที่พวกเขาสูบจัดก็เนื่องจากศาสนาอิสลามห้ามไม่ให้ดื่มสุรา เมื่อดื่มสุราไม่ได้พวกเขาก็มาลงกับบุหรี่แทน การสูบบุหรี่ที่นี้เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าปรกติมาก ไม่เหมือนกับที่เมืองไทยที่คนสูบบุหรี่ถูกทำให้มีภาพลักษณ์ที่หน้ารังเกียจ ที่แย่กว่านั้นคือรัฐบาลก็ไม่รณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทยาสูบของประเทศทั้งสองนี้มีผลกำไรที่สูงมาก และบริษัทยาสูบก็เป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทตะวันตกอีกด้วย มีกำไรมากก็มีเงินมาก มีเงินมากก็มีอำนาจมาก มีอำนาจมากก็อย่างที่รู้ๆกันละครับ....

ไปเรียนเมืองนอก ไปเรียนมาเลเซีย



ก่อนอื่นต้องขอเล่าถึงความเป็นมาก่อนว่าทำไมผมถึงมาเรียนที่มาเลเซีย ที่อยากจะเล่าก็เนื่องจากก่อนที่จากประเทศไทยมาผมไม่ได้เล่าให้ใครฟังเท่าไรว่าผมจะมาเรียนที่มาเลย์ เพื่อนๆหลายๆคนคงสงสัยว่าทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนที่มาเลย์
ประการแรก ถึงแม้ว่าผมกำลังเรียนโทที่จุฬาฯ ปีสองแล้วก็ตาม แต่ผมรู้สึกว่าปริญญาโทที่ผมเรียนอยู่นั้นได้ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดวิชาการในประเทศจริงๆ และผมก็ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่าจะใช้ปริญญาโทกฎหมายมหาชนไปทำอะไร เพราะหากจะใช้เพื่อสมัครเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็จะให้เครดิตกับโทนอกมากกว่า ดังนั้นผมเกิดความรู้สึกไม่ดีว่า ทำไมเด็กที่จบโทกฎหมายในประเทศ หากต้องการตำแหน่งดีๆก็ต้องไปขวนขวายหาโทนอกมาประกอบ(ทั้งๆที่ความเป็นจริงโทในน่าจะเรียนจบยากกว่าโทนอกเสียอีก) คิดได้ดังนั้น โทในอีกสาขาหนึ่งที่เป็นสาขานอกเหนือจากกฎหมายที่ร่ำเรียนมาห้าปีเต็มก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
ประการที่สอง ผมคิดว่าการมาเรียนที่ประเทศมาเลเซียจะเป็นประโยชน์ต่อผมมากเพราะผมมีสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนเก่า Malay College ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวชิราวุธวิทยาลัยมาอย่างช้านาน หากผมได้สานสัมพันธ์ที่ดีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก็จะทำให้ผมมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ผมยังรู้สึกอีกว่าเพื่อนบ้านเรานี้แหละที่น่าสนใจ หากเราไม่ศึกษาเรื่องของเราเอง หากเราไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ในภูมิภาคของเรา การนำเข้าวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ในประเทศก็จะผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น เรื่องนี้คงไม่ต้องขยายความเพราะผมคิดว่าเราคนไทยต่างก็รู้กันดีอยู่แล้ว
ประการที่สาม ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจได้ก็คือ ทุนนี้เป็นทุนเต็ม ได้ทั้งค่าเล่าเรียน กินอยู่ ที่หลับที่นอน เรียกจะได้ว่าฟรีเกือบทุกอย่าง แม้ว่าจะต้องกลับไปใช้ทุนที่จุฬาฯก็ตาม กระนั้น ผมก็ยังสามารถประหยัดเวลาในการเรียนโทได้อีกโข
คิดได้ดังนี้ ผมก็เลยตัดสินใจว่าหนึ่งปีข้างหน้านี้จะไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆจากบ้านใกล้เรือนเคียงนี้ละครับ

22 August 2007

ประชามติ ประชานิยม


วันที่ 19 สิงหาคม 2550 นับว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับชาติไทย เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้จัดให้มีการประชามติ อีกทั้งเป็นครั้งแรกในโลกที่รัฐบาลของประเทศ จัดให้มีการประชามติ "รับหรือไม่รับ" รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากถามผมว่าคุ้มหรือไม่ที่จัดให้มีการประชามติ ผมก็คิดว่าคงไม่คุ้มนักเนื่องจากรัฐไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายตั้งแต่ ราคาสนช. ค่าตัวและค่านันทนาการผู้ร่างรธน. งบประชาสัมพันธ์อีกไม่รู้เท่าไร อย่างไรก็ดีหากถามในมุมกลับกันว่าเสียเปล่าหรือไม่? ผมก็คิดว่าคงไม่เสียเปล่าซะทีเดียวเนื่องจากการประชามติครั้งนี้ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ในภูมิภาค หลังจากที่ประชามติแล้วผมมีข้อสังเกตดังนี้

1.การประชามติในครั้งนี้ผมไม่คิดว่าเป็นการประชามติร่างรธน.เป็นหลัก แต่เป็นการวัดประชานิยมเสียมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงระบบ แบบแผน และกรอบทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดไว้ ในทางกลับกันชาวไทยส่วนใหญ่ใช่ฐานความคิดจากประเด็นแวดล้อมอื่นๆเป็นตัวคัดสินใจ เป็นต้นว่า รับเพราะชอบทักษิน ไม่รับเพราะเกลียดทักษิน ไม่รับเพราะเกิดจากรัฐประหาร รับเพราะเป็นทหาร ฯลฯ สิ่งที่นำมาตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดจากการพิจารณารัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างไร แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าประชามติ รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญหรือครับ

2.ช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจน้อยเกินไป ในฐานะที่จบกฎหมายสายมหาชน ผมพูดได้เลยว่าใช้เวลาในการอ่านรัฐธรรมนูญปี 40 กว่า 2 ปียังเข้าใจได้ไม่หมด พอเจอร่าง 50 ก็แทบลมจับเพราะรายละเอียดปลีกย่อยเยอะเหลือประดา นี้เล่นให้เวลาไม่ถึงไตรมาสก็ให้ตัดสินใจแล้ว ซื้อรถยังตัดสินใจนานกว่านี้เลยครับ

3.รัฐบาลไม่เป็นกลางในการประชาสัมพันธ์ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นจัดว่าสำคัญมากเมื่อจะมีการประชามติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการประชามติคือผู้ที่ไม่เห็นด้วย(ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม) ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรประชาชนในการประชาสัมพันธ์ให้รับร่างฯ รัฐบาลก็ใช้มาตรการกีดกันฝ่ายตรงข้าม เช่น ใส่ร้ายว่าเป็นข้อความเท็จ (จริงๆแล้วเท็จหรือไม่เท็จประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองหากรัฐให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง) ในขณะที่รัฐบาลก็ใช้ข้อความจูงใจที่เป็นเท็จพอๆกัน ตัวอย่างเช่น รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ นักกฎหมายก็รู้ๆกันอยู่ว่าหากจะแก้ก็แก้เสียตอนนี้ยังง่ายกว่ารับแล้วค่อยแก้ นี้ยังไม่นับกลวิธีกีดกันฝ่ายไม่รับที่ใช้อยู่ในส่วนภูมิภาคนะครับ คนเราจะตัดสินใจได้ถูกได้อย่างไรหากรับข้อมูลแต่ฝ่ายเดียว ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นข้อด้อยที่สุดสำหรับการประชามติ

4.สื่อพยายามโยงการประชามติกับประเด็นอื่นๆ เช่น หากไม่รับจะทำให้ความชอบธรรม(ในการปฏิวัติ)ของคมช.น้อยลงไป ตราบใดที่คนไทยไปลงมติโดยไม่เข้าใจในสิ่งที่ "ท่านผู้มีอำนาจถาม" คำตอบก็คงจะไม่ตรงกับคำตอบที่อยากได้ครับ

กระนี้แม้ผมก็ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับผู้ชนะ" แต่ก็ต้องยอมรับและน้อมนำมาศึกษาโดยจำยอม คงต้องเป็นนักกีฬาที่ดีอย่างที่ท่านผู้นำอยากให้คนไทยมีน้ำใจนักกีฬา (ส่วนกติกาว่ากันอีกที) คิดเสียว่าอย่างน้อยเราก็มีรัฐธรรมนูญ................ไว้ให้ทหารฉีกเล่นอีกก็แล้วกัน (ฮา)


ก่อนจบผมมีข่าวดีมาบอก ผมได้ทุน ก.พ. ไปเรียน อาเซียนศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย คาดว่าจะเดินทางเดือนหน้านี้ คงจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกเยอะละครับ คอยติดตามละกัลล์

05 July 2007

อยากเป็นเจ้าป่า


ครั้งนี้ไม่ขอพาดพิงถึงเรื่องการเมืองละกันนะครับ ปวดหัว ทำงานอยู่จุฬามาก็ครบปีแล้ว ถามว่าคุ้มไหมที่มาอยู่ที่นี้ก็คงตอบได้ว่าหากมองในเรื่องรายได้ ก็คิดว่าขาดทุน(ไม่พอใช้) แต่หากพิจารณาสิ่งที่ได้รับอื่นๆก็คิดว่าคุ้มมากกับตำแหน่งที่ทำงานอยู่และความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการร่าง พรบ.จุฬา โครงการปรับปรุงร่างข้อบังคับทั้งหลาย โครงการร่างรัฐธรรมนูญ 50 โอ้ววว.. นี้เราทำงานใหญ่ๆเหมือนกันนะเนี้ย ที่ทำงานมาก็คิดไว้เสมอว่าทำเพื่อชาติ วันนี้แม้จะเป็นกระต่ายน้อยในป่ากว้าง แต่ซักวันเราจะเป็นเจ้าป่า.....โฮ้ววววว..(คำราม)




20 March 2007

The Rule of Law

"At base, the rule of law is about a rule by law, not men, about law, as Aristotle would have it, as reason devoid of passion. In real terms, what this translates to in the modern world should be, I suggest, about equality before the law-particularly for the despised, for the frightening, for the dispossessed, for the disenfranchised, for the outsider, for the alien. It means that nobody should be deprived of their liberty without the right to be heard, and the right to be heard is valueless without the ability to see the information upon which the decision to detain is made."


J M Schone ,The rule of law: a fundamental democratic principle, NEW LAW JOURNAL, 2004, NLJ 154.7149(1545)

14 March 2007

ประท้วงงดข้าว ม.ออกนอกระบบ

วันก่อนไปประชุมที่รัฐสภาแต่เช้า เห็นนักศึกษานั่งอดข้าวประท้วงม.ออกนอกระบบ
มองไปข้างๆ เครื่องดื่มชูกำลัง นมถั่วเหลือง มากมาย ประชุมเสร็จก็เที่ยง
นั่งรถตู้ออกมา อ้าวนักศึกษาที่อดข้าวไปไหนแล้วละ เหลือแต่เสื่อวางเปล่า
ไม่ทันรถจะเลี้ยวออกจากรัฐสภา ก็มีเสียงหนึ่งดังเปรยๆมาจากด้านหลังรถ
"สงสัยพวกนักศึกษาเค้าจะพักกินเที่ยงวะ ?!?"