22 August 2007

ประชามติ ประชานิยม


วันที่ 19 สิงหาคม 2550 นับว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับชาติไทย เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้จัดให้มีการประชามติ อีกทั้งเป็นครั้งแรกในโลกที่รัฐบาลของประเทศ จัดให้มีการประชามติ "รับหรือไม่รับ" รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากถามผมว่าคุ้มหรือไม่ที่จัดให้มีการประชามติ ผมก็คิดว่าคงไม่คุ้มนักเนื่องจากรัฐไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายตั้งแต่ ราคาสนช. ค่าตัวและค่านันทนาการผู้ร่างรธน. งบประชาสัมพันธ์อีกไม่รู้เท่าไร อย่างไรก็ดีหากถามในมุมกลับกันว่าเสียเปล่าหรือไม่? ผมก็คิดว่าคงไม่เสียเปล่าซะทีเดียวเนื่องจากการประชามติครั้งนี้ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ในภูมิภาค หลังจากที่ประชามติแล้วผมมีข้อสังเกตดังนี้

1.การประชามติในครั้งนี้ผมไม่คิดว่าเป็นการประชามติร่างรธน.เป็นหลัก แต่เป็นการวัดประชานิยมเสียมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงระบบ แบบแผน และกรอบทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดไว้ ในทางกลับกันชาวไทยส่วนใหญ่ใช่ฐานความคิดจากประเด็นแวดล้อมอื่นๆเป็นตัวคัดสินใจ เป็นต้นว่า รับเพราะชอบทักษิน ไม่รับเพราะเกลียดทักษิน ไม่รับเพราะเกิดจากรัฐประหาร รับเพราะเป็นทหาร ฯลฯ สิ่งที่นำมาตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดจากการพิจารณารัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างไร แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าประชามติ รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญหรือครับ

2.ช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจน้อยเกินไป ในฐานะที่จบกฎหมายสายมหาชน ผมพูดได้เลยว่าใช้เวลาในการอ่านรัฐธรรมนูญปี 40 กว่า 2 ปียังเข้าใจได้ไม่หมด พอเจอร่าง 50 ก็แทบลมจับเพราะรายละเอียดปลีกย่อยเยอะเหลือประดา นี้เล่นให้เวลาไม่ถึงไตรมาสก็ให้ตัดสินใจแล้ว ซื้อรถยังตัดสินใจนานกว่านี้เลยครับ

3.รัฐบาลไม่เป็นกลางในการประชาสัมพันธ์ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นจัดว่าสำคัญมากเมื่อจะมีการประชามติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการประชามติคือผู้ที่ไม่เห็นด้วย(ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม) ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรประชาชนในการประชาสัมพันธ์ให้รับร่างฯ รัฐบาลก็ใช้มาตรการกีดกันฝ่ายตรงข้าม เช่น ใส่ร้ายว่าเป็นข้อความเท็จ (จริงๆแล้วเท็จหรือไม่เท็จประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองหากรัฐให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง) ในขณะที่รัฐบาลก็ใช้ข้อความจูงใจที่เป็นเท็จพอๆกัน ตัวอย่างเช่น รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ นักกฎหมายก็รู้ๆกันอยู่ว่าหากจะแก้ก็แก้เสียตอนนี้ยังง่ายกว่ารับแล้วค่อยแก้ นี้ยังไม่นับกลวิธีกีดกันฝ่ายไม่รับที่ใช้อยู่ในส่วนภูมิภาคนะครับ คนเราจะตัดสินใจได้ถูกได้อย่างไรหากรับข้อมูลแต่ฝ่ายเดียว ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นข้อด้อยที่สุดสำหรับการประชามติ

4.สื่อพยายามโยงการประชามติกับประเด็นอื่นๆ เช่น หากไม่รับจะทำให้ความชอบธรรม(ในการปฏิวัติ)ของคมช.น้อยลงไป ตราบใดที่คนไทยไปลงมติโดยไม่เข้าใจในสิ่งที่ "ท่านผู้มีอำนาจถาม" คำตอบก็คงจะไม่ตรงกับคำตอบที่อยากได้ครับ

กระนี้แม้ผมก็ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับผู้ชนะ" แต่ก็ต้องยอมรับและน้อมนำมาศึกษาโดยจำยอม คงต้องเป็นนักกีฬาที่ดีอย่างที่ท่านผู้นำอยากให้คนไทยมีน้ำใจนักกีฬา (ส่วนกติกาว่ากันอีกที) คิดเสียว่าอย่างน้อยเราก็มีรัฐธรรมนูญ................ไว้ให้ทหารฉีกเล่นอีกก็แล้วกัน (ฮา)


ก่อนจบผมมีข่าวดีมาบอก ผมได้ทุน ก.พ. ไปเรียน อาเซียนศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย คาดว่าจะเดินทางเดือนหน้านี้ คงจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกเยอะละครับ คอยติดตามละกัลล์

6 comments:

Unknown said...

ยินดีด้วย เห้ย ไม่เห็นบอกกันเลย ให้รู้ทางเว็บ เลยนะ

Anonymous said...

ผมเข้าใจในภาพรวมว่ารัฐธรรมนูญ ปี40 เป็นหลักการของประชาธิปไตยตามความเชื่อ ส่วน ปี50 เกิดมาจากข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องตามหลักการ

การเห็นชอบ ไม่จำเป็นว่า จะต้องเห็นด้วยทุกอย่าง
การไม่เห็นชอบ ก็ไม่จำต้องว่า ไม่เห็นด้วยทุกอย่างเช่นกัน

ดั้งนั้นประชามติที่ผ่านมา จึงแสดงจุดยืนที่จะเลือกใช้ความเหมาะสมที่สุดในการตัดสินใจ..

ไหนๆก็ผ่านความเห็นชอบไปแล้วก็อยากพูดเป็นควันหลงหลังจากผ่าน 19สิงหาว่า

ที่บอกว่าสื่อของรัฐปิดกั้น..มีบ้าง แต่เรื่องที่รัฐออกตัวให้รับร่างจริงๆเป็นเพียงนามธรรมที่เข้าใจกันไปว่ารัฐรณรงค์ให้เห็นชอบ เพราะเนื่องจากรัฐเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ที่ออกจากรัฐจริงๆ เช่นเอกสารที่บอกให้รับ ไม่ใช่ให้รณรงค์ออกเสียงนั้น...ไม่มี

(ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐเช่นการไปแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการไม่ใช่เป็นผลงานรัฐบาล)

ไม่มีสื่อไหนที่พลเอกสุรยุทธิ์บอกว่า ช่วยไปรับร่าง เห็นจะมีแต่ให้ไปช่วยกันลงประชามติกันเยอะๆ

แต่ถ้าเรื่องของการรณรงค์ไม่เห็นชอบ แจกกันเกลื่อนกลาดทั้งเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิว ซึ่งล้วนเป็นรูปธรรม ทั้งนั้น

เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ผมกลับมองฝ่ายเห็นชอบเสียเปรียบในการรณรงค์มากกว่า เพราะฝ่ายที่เห็นชอบหลายคนถูกผูกติดกับรัฐที่ต้องพยามวางตัวเป็นกลาง
จึงไม่สามารถทำได้เต็มที่..

ต่อมาเรื่องการดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะคนจะสนใจแต่ตัวบุคคล ไม่ได้สนใจในเนื้อหา

คิดง่ายๆว่าใครโต้เถียงเก่งกว่ากันคนนั้นก็ชนะ

ทั้งที่ความเป็นจริงในเนื้อหาอาจระบุคำตอบไว้ชัดแจ้งแล้วว่า "ไก่ออกลูกเป็นไข่"
ไม่ใช่ต้องมาหาคำตอบเพื่อโต้เถียงกันว่า "ไก่ออกลูกเป็นไข่หรือออกลูกเป็นตัว"

ซึ่งจะเป็นการย้ำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีแต่ปัญหาจนลืมมองในส่วนที่เป็นข้อดีไป

ข้อไหนเห็นด้วยหรือเป็นข้อดีในปี 50 ก็ไม่พูดถึงอยู่แล้ว ประชาชนทั่วไปย่อมจะคิดว่ารัฐธรรมนุญนี้มีแต่ไม่ดี ทั้งที่หลักของการดีเบตนั้น แท้จริงแล้วมีเจตนามุ่งให้เห็นถึงความรู้ ความสามารถ ศักยภาพ ปฏิภาณไหวพริบของตัวบุคคลทั้งสองในการโต้ตอบ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกเชื่อในตัวบุคคลนั้น

และเนื้อความในร่างรัฐธรรมนูญมันบอกข้อเท็จจริงในตัวมันเองอยู่แล้ว ประชาชนสามารถที่จะศึกษาได้จึงไม่เหมาะจะนำมาเป็นหัวข้อโต้วาที

ครั้งหนึ่งเคยไปสนามหลวงก็พบป้ายติดว่า
"มาตรา 28 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย..."

โดยยกมาแค่วรรคแรก แล้วยังอธิบายเนื้อหานี้ข้างล่างต่อว่า แปลว่ารัฐสามารถตรากฎหมายริดรอนสิทธิของประชาชนให้เป็นเรื่องถูกต้องได้..

(ก็ไม่ทราบว่า เป็นข้อความที่ถูกบิดเบือนหรือไม่)

นอกจากนี้ยังได้ยินนปก.บอกผู้ชุมนุมว่าพูดที่สนามหลวง ว่า "ถ้ามาตรา 309 ผ่าน คาร์บ้องหรือคาร์บอมที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายก ถ้าเกิดมันเป็นคาร์บอมจริงๆ ทหารก็จะใช้มาตรานี้แหละครับพี่น้อง ที่จะทำให้พวกมันไม่ต้องรับผิด"

(เออเนอะ..ยังคิดไปได้แน่ะ)

พอพูดถึง 309 ก็อยากคิดเห็นนิดหนึ่งครับว่า ถ้ามาตรานี้เกิดเป็นวิกฤติ หรือสร้างปัญหาอย่างร้างแรงมากอย่าง อ.วรเจตน์ได้ตั้งข้อสังเกตจริงๆ ผมเชื่อว่าถ้ามันถึงขั้นนั้น กระแสของประชาชนทั้งหมดจะกลับขึ้นมาสู้เอง

ในใจแล้วผมคิดในมุมที่ว่าเพราะต้องการที่จะมุ่งคุ้มครองการกระทำ รวมไปถึงองค์กรต่างๆที่เกิดขึ้นมา เช่น คตส.ถ้าไม่รับรองฉบับชั่วคราว องค์กรนี้จะอยู่ที่ไหน และเพื่อปูทางลงจากหลังเสือให้กับคมช.เสียมากกว่า ซึ่งน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี

ไม่งั้นอาจจะเกิดการแก้แค้นไม่เป็นที่สิ้นสุด..พวกที่ถืออำนาจอยู่ก็ไม่กล้าลง เมื่อเกิดการต่อสู้ ความเดือดร้อนก็จะตกอยู่กับประชาชนอีก

อ.วรเจตน์เคยแนะนำว่า ถ้าใช้ปี 40 ก็สามารถนำเข้าเพิ่มเติมในบทเฉพาะการ ผมก็สงสัยตรงที่แน่ใจแล้วหรอ..ว่ามันจะไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองหรือปัญหาตามมา

ผมเคารพในหลักการ แต่ไม่มั่นใจข้อเท็จจริง..

เนื่องจากนักวิชาการไม่ต้องรับผลกระทบในข้อกังวลอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้โดยตรง จึงสามารถมองได้ชัดกว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง และเมื่อสุดท้ายมีอะไรเกิดขึ้น นักวิชาการจะบอกแค่เพียงว่า "เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย"

ก็มาคิดกันอีกว่า เราจะหาทางออก หรือ เราจะหาทางตัน?

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อมีการลงมติเส็ด ก็สามารถเปิดเอ็กซิทโพลเช่นหน่วยไหนได้สูงสุด ใครชนะ ได้เลย แต่ในการเมืองไทย เคยมีที่เปิดเอ็กซิทโพลแล้ว เกิดไฟดับในหน่วยเลือกตั้งที่เอ่ยในนั้นตามมา

เชื่อไหมครับ?

-----------------------------

สุดท้ายนี้ในรธน.50 ผมอยากถามแบบแอ๊บแบ๊ว(ติดเทรนหน่อย)ว่า ประเทศไทยมีสภาพเป็นจังหวัดทั้ง 76จังหวัดจริงหรอ ???

สงสัยศรีธนญชัยที่ได้อ่านวรรคก่อนคงเตรียมตัวทำงานแล้ว...

(ถึงว่าไง..จะเขียนมาดีเพียงใดก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย)

ปล.ขอแสดงความยินดีกับพัชร์ด้วยที่ได้ทุนนะครับ เมื่อไรเลี้ยงละ 55+

PuMppz said...

ลืมบอกไปว่า ที่ถามเรื่องจังหวัด เกี่ยวข้องกับ มาตรา 111..

Tier Etat said...

ตอบธีระพงค์ ธ.
ขอบคุณมากครับสำหรับความเห็น แต่อยากจะขออธิบายไว้หน่อยนะครับ
ที่คุณอ้างว่า
"ที่บอกว่าสื่อของรัฐปิดกั้น..มีบ้าง แต่เรื่องที่รัฐออกตัวให้รับร่างจริงๆเป็นเพียงนามธรรมที่เข้าใจกันไปว่ารัฐรณรงค์ให้เห็นชอบ เพราะเนื่องจากรัฐเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ที่ออกจากรัฐจริงๆ เช่นเอกสารที่บอกให้รับ ไม่ใช่ให้รณรงค์ออกเสียงนั้น...ไม่มี
(ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐเช่นการไปแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการไม่ใช่เป็นผลงานรัฐบาล)
ไม่มีสื่อไหนที่พลเอกสุรยุทธิ์บอกว่า ช่วยไปรับร่าง เห็นจะมีแต่ให้ไปช่วยกันลงประชามติกันเยอะๆ"

ตรงนี้ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือโปสเตอร์ปชส.ของฝ่ายรัฐบาล คาดว่าทุกคนคงเคยเห็น บนโปสเตอร์จะเป็นรูปสัญญาณไฟจราจร จุดสังเกตมันอยู่ที่ตรงไฟเขียวเขียนว่าลงมติร่างรัฐธรรมนูญนั้นและครับ แถมโครงการประชาสัมพันธ์ก็มีมนุษย์ชุดเขียวออกมาอีกละ อีกประการคือการพิจารณาว่าคนใดเป็นคนของรัฐบาล ดูได้จากตำแหน่งในรัฐบาล(ร่วมถึงสนช.ด้วยนะครับ)และสายการบังคับบัญชาครับ การเอาตำแหน่งทางวิชาการมาเป็นเกราะบดบังความจริงนับว่าไม่เหมาะสม

Tier Etat said...

ที่คุณธีระพงค์ กล่าวว่า
"พอพูดถึง 309 ก็อยากคิดเห็นนิดหนึ่งครับว่า ถ้ามาตรานี้เกิดเป็นวิกฤติ หรือสร้างปัญหาอย่างร้างแรงมากอย่าง อ.วรเจตน์ได้ตั้งข้อสังเกตจริงๆ ผมเชื่อว่าถ้ามันถึงขั้นนั้น กระแสของประชาชนทั้งหมดจะกลับขึ้นมาสู้เอง

ในใจแล้วผมคิดในมุมที่ว่าเพราะต้องการที่จะมุ่งคุ้มครองการกระทำ รวมไปถึงองค์กรต่างๆที่เกิดขึ้นมา เช่น คตส.ถ้าไม่รับรองฉบับชั่วคราว องค์กรนี้จะอยู่ที่ไหน และเพื่อปูทางลงจากหลังเสือให้กับคมช.เสียมากกว่า ซึ่งน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี"

ประการที่อ้างถึงความรุนแรงของมาตรา 309 อาจจะไม่ชัดสำหรับนักกฎหมายไทยเท่าไรนักเพราะเราเคยชินกับกฎหมายในรูปแบบนี้ ที่บอกว่ามุ่งคุ้มครองการกระทำขององค์กรที่ออกมาจากคณะรัฐประหาร หากจะคุ้มครองกันจริงๆ ไม่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรอกครับ ไปใส่ในกฎหมายระดับพรบ.ก็ได้ อย่างไรก็ดีผมก็คิดว่าหากคนเราทำกิจกรรมใดๆที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วก็ไม่เห็นต้องกลัวเลย เรื่องที่ถูกกฎหมายไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองก็ได้ ที่รุนแรงที่สุดก็คือการรับรองไปในอนาคตครับ จะมีซักกี่คนที่จะย้อนไปเปิดดูว่ารัฐธรรมนูญ(ชั่ว-คราว) พ.ศ. 2549 รับรองอะไรไว้บ้าง ผมว่าไม่เกินร้อยละ 5 ของประชากรไทยที่มาลงคะแนนเสียงหรอกครับ

ผมยังคงเห็นว่าการแก้ไข รธน.2540 เพียงบางมาตราจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด เนื่องจากปัญหาจริงๆแล้วไม่ได้เกิดจากระบบที่รัฐธรรมนูญ40 วางไว้ แต่เกิดจาก"คน"

ไม่เชื่อเดียวคอยดูกันว่ากลไก 50 จะทำงานได้ซักเพียงไหน ใครเป็นรัฐบาลก็เตรียมรับกรรมไว้ได้เลย หาทนายดีๆไว้แก้ต่างให้ตัวเองด้วยนะครับเพราะอัยการเป็นอิสระไปแล้ว ใครที่เพิ่งศาลก็อย่าไปดึงท่านลงมามากนักเพราะหากศาลได้ลิ้มรสความหอมหวานของอำนาจแล้วก็คงจะเป็นกลางได้ยาก.....

ได้แต่(ถูกทำให้)เชื่อว่าการเมืองจะขี้-คาย ไปในทางที่ดีครับ

PuMppz said...

เพิ่มเติมนะ ไม่โต้แย้ง..

หาก"เรื่องที่ถูกกฎหมายไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรอง" ในสำหรับการเมืองไทยแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ.. ก็รู้สึกดีใจมากๆ

เพราะเห็นหลายคนมีวิบากกรรมตั้งแต่ ศาลชั้นต้น อุทธรณ์มา ฎีกาก็แล้ว ยังดึงดันถวายฎีกาอีก
เปรียบว่าขนาดมีผู้ตัดสินให้ยังมีสำนึกว่าไม่ผิดเลย..

ติดคุกก็ยังว่า ต้องใส่ตรวนอยู่ในคุกเลยถึงว่าติดจริง

ก็เพราะเป็น "คน" นั่นแหละ

นี่เรื่องว่าผิดนะ แล้วถ้าเรื่องว่าถูกละ

อย่างที่บอกแหละครับ
เห็นด้วยในหลักการแต่ไม่เชื่อมั่นในข้อเท็จจริง

309 เปรียบได้ว่าเป็นอาวุธที่จะใช้ป้องกัน หรือรังแกของ คมช.

ก็แล้วแต่วิจารณญาณใน "การชม" หรือชั่งน้ำหนักทั้งสองด้าน

มันจึงถูกใช้เป็นเครื่องช่วยการตัดสินใจของ
"กลุ่มคน" ที่ทำปัญหาขี้-คายไปในทางดี..

คาดว่า (ย้ำนะ) อนาคตจะมีการแก้ไขด้วยวิธีการอย่างใดๆ ภายหน้าแน่นอน ในหมู่นักกฎหมายอาจจะคิดว่ายาก แต่ปัจจัยทางการเมืองไม่ยากมากนักสำหรับมาตรานี้..(ต้องลอง!!!) ติดตามตอนต่อไป

ขำๆนะ อย่าเครียดดดดดดดดดด