22 August 2007

ประชามติ ประชานิยม


วันที่ 19 สิงหาคม 2550 นับว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับชาติไทย เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้จัดให้มีการประชามติ อีกทั้งเป็นครั้งแรกในโลกที่รัฐบาลของประเทศ จัดให้มีการประชามติ "รับหรือไม่รับ" รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากถามผมว่าคุ้มหรือไม่ที่จัดให้มีการประชามติ ผมก็คิดว่าคงไม่คุ้มนักเนื่องจากรัฐไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายตั้งแต่ ราคาสนช. ค่าตัวและค่านันทนาการผู้ร่างรธน. งบประชาสัมพันธ์อีกไม่รู้เท่าไร อย่างไรก็ดีหากถามในมุมกลับกันว่าเสียเปล่าหรือไม่? ผมก็คิดว่าคงไม่เสียเปล่าซะทีเดียวเนื่องจากการประชามติครั้งนี้ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ในภูมิภาค หลังจากที่ประชามติแล้วผมมีข้อสังเกตดังนี้

1.การประชามติในครั้งนี้ผมไม่คิดว่าเป็นการประชามติร่างรธน.เป็นหลัก แต่เป็นการวัดประชานิยมเสียมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงระบบ แบบแผน และกรอบทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดไว้ ในทางกลับกันชาวไทยส่วนใหญ่ใช่ฐานความคิดจากประเด็นแวดล้อมอื่นๆเป็นตัวคัดสินใจ เป็นต้นว่า รับเพราะชอบทักษิน ไม่รับเพราะเกลียดทักษิน ไม่รับเพราะเกิดจากรัฐประหาร รับเพราะเป็นทหาร ฯลฯ สิ่งที่นำมาตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดจากการพิจารณารัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างไร แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าประชามติ รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญหรือครับ

2.ช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจน้อยเกินไป ในฐานะที่จบกฎหมายสายมหาชน ผมพูดได้เลยว่าใช้เวลาในการอ่านรัฐธรรมนูญปี 40 กว่า 2 ปียังเข้าใจได้ไม่หมด พอเจอร่าง 50 ก็แทบลมจับเพราะรายละเอียดปลีกย่อยเยอะเหลือประดา นี้เล่นให้เวลาไม่ถึงไตรมาสก็ให้ตัดสินใจแล้ว ซื้อรถยังตัดสินใจนานกว่านี้เลยครับ

3.รัฐบาลไม่เป็นกลางในการประชาสัมพันธ์ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นจัดว่าสำคัญมากเมื่อจะมีการประชามติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการประชามติคือผู้ที่ไม่เห็นด้วย(ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม) ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรประชาชนในการประชาสัมพันธ์ให้รับร่างฯ รัฐบาลก็ใช้มาตรการกีดกันฝ่ายตรงข้าม เช่น ใส่ร้ายว่าเป็นข้อความเท็จ (จริงๆแล้วเท็จหรือไม่เท็จประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองหากรัฐให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง) ในขณะที่รัฐบาลก็ใช้ข้อความจูงใจที่เป็นเท็จพอๆกัน ตัวอย่างเช่น รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ นักกฎหมายก็รู้ๆกันอยู่ว่าหากจะแก้ก็แก้เสียตอนนี้ยังง่ายกว่ารับแล้วค่อยแก้ นี้ยังไม่นับกลวิธีกีดกันฝ่ายไม่รับที่ใช้อยู่ในส่วนภูมิภาคนะครับ คนเราจะตัดสินใจได้ถูกได้อย่างไรหากรับข้อมูลแต่ฝ่ายเดียว ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นข้อด้อยที่สุดสำหรับการประชามติ

4.สื่อพยายามโยงการประชามติกับประเด็นอื่นๆ เช่น หากไม่รับจะทำให้ความชอบธรรม(ในการปฏิวัติ)ของคมช.น้อยลงไป ตราบใดที่คนไทยไปลงมติโดยไม่เข้าใจในสิ่งที่ "ท่านผู้มีอำนาจถาม" คำตอบก็คงจะไม่ตรงกับคำตอบที่อยากได้ครับ

กระนี้แม้ผมก็ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับผู้ชนะ" แต่ก็ต้องยอมรับและน้อมนำมาศึกษาโดยจำยอม คงต้องเป็นนักกีฬาที่ดีอย่างที่ท่านผู้นำอยากให้คนไทยมีน้ำใจนักกีฬา (ส่วนกติกาว่ากันอีกที) คิดเสียว่าอย่างน้อยเราก็มีรัฐธรรมนูญ................ไว้ให้ทหารฉีกเล่นอีกก็แล้วกัน (ฮา)


ก่อนจบผมมีข่าวดีมาบอก ผมได้ทุน ก.พ. ไปเรียน อาเซียนศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย คาดว่าจะเดินทางเดือนหน้านี้ คงจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกเยอะละครับ คอยติดตามละกัลล์