อยู่มาเลย์มาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว วันเวลาผ่านไปเร็วเสียจริงๆ ความเป็นอยู่ตอนนี้ก็ลงตัวเกือบหมดแล้วละครับ ทั้งที่อยู่อาศัย เพื่อน แล้วก็การใช้ชีวิต วันๆก็ไม่ได้ทำอะไรมากหรอกครับเพราะว่าเริ่มเรียนหนักขึ้นแล้ว เวลาว่างส่วนใหญ่เลยหมดไปกับการค้นคว้าหาข้อมูล โดยเฉพาะผมเองนั้นเจอปัญหาใหญ่เพราะว่าไม่ได้จบมาตรงกับสาขาที่เขาเรียนกัน ให้มาทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์มหภาคก็พอทำเนาอยู่ แต่พอเจอการวิเคราะห์แบบจุลภาคเข้าไปถึงกับหงายเก๋งไปเลยละครับ กราฟก็อ่านไม่เป็น ไม่ได้จับมาตั้งแต่ม.3 แล้ว ศัพท์ที่ใช้ก็เป็นศัพท์เฉพาะซึ่งผมไม่มีพื้นฐานอยู่เลย ดังนั้นหากจะให้ประเมินเรื่องการเรียนตอนนี้ก็จัดว่าเหมือนหัดเดินก็คงไม่ผิด
สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษจะมีอยู่สองเรื่องคือ เรื่อง Globalisation กับเรื่องการเมืองในพม่า วันนี้ขอกล่าวถึงการเมืองในพม่าก็แล้วกันครับ เพราะมีเพื่อนพม่าที่เรียนอยู่ด้วยกันอยู่กลุ่มหนึ่ง พม่าใช่ว่าจะมีแต่คนหัวโบราณนะครับ จริงๆแล้วเขาก็มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพอยู่มากที่เดียว เสียแต่ว่าคนเหล่านั้นต่างอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก สังคมพม่าคงเปรียบได้กับเมืองไทยสมัยเผด็จการทหารในยุคจอมผลต่างๆ ถืออำนาจและพวกพ้องเป็นหลัก สิ่งที่เขาพัฒนาระบบเผด็จการของเขาคือทำให้คนส่วนใหญ่เป็นทหาร เพราะเมื่อได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทหารแล้วก็มีอำนาจบาตรใหญ่ขึ้นมาเลยทีเดียว ทหารชั้นประทวนสามารถกินข้าวฟรีได้ไม่ต่างกับตำรวจเมืองไทยบางนาย อยากได้อะไรก็ขอเอาได้เลย เมื่อคนส่วนใหญ่เป็นทหาร สังคมก็พัฒนาไปแบบทหาร ไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง(ที่อาจจะเป็นประชาธิปไตย) สิ่งที่น่ากลัวสำหรับพม่าอาจไม่ใช่มีเพียงแต่ทหารที่ทรงอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อย่าง จีน สิงคโปร์ อินเดีย ฯลฯ ก็เป็นฝันร้ายสำหรับชาวพม่าเช่นกัน เพราะประเทศเหล่านี้ต่างก็มีผลประโยชน์มากมายทับซ้อนอยู่กับรัฐบาลทหาร หากรัฐบาลล้มความเสี่ยงก็จะเกิดขึ้นกับโครงการต่างๆของประเทศเหล่านี้ แต่ถ้ามองในมุมของชาวพม่า ทรัพยากรของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นของกลุ่มทหารเพียงกลุ่มเดียว ชาวพม่าควรได้รับประโยชน์จากการลงทุนอย่างคุ้มค่าที่สุด ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย เช่น ไนจีเรีย มีน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอยู่แยะ แต่คนไนจีเรียก็ยังจนอยู่ เวเนซูเอล่า ก็เหมือนกัน คนรวยมีแต่ผู้นำประเทศกับนักการเมือง อย่างไรก็ตามผมมองในมุมของคนไทย พอวิจารณ์เขามากๆ มองดูเมืองไทยแล้วประวัติศาสตร์เราก็ไม่ต่างกัน ผู้นำก็ไม่ได้ยึดหลักกติกาบ้านเมืองเท่าไร ไม่เชื่อลองนับจำนวนรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกดูซิครับ
03 October 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment