28 September 2007

Shame Burmese Junta



ขอประณามการใช้ความรุนแรงกับพระสงฆ์และผู้ประท้วงในพม่า
ขอประณามเผด็จการบ้าอำนาจ
ก้องสรรเสริญ ออง ซาน ซู จี
ขอให้รัฐบาลทหารจงอับจน

27 September 2007

ไหว้พระจันทร์



วันอังคารที่ผ่านมา(๒๕) ผมได้มีโอกาสไปฉลองเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ เทศกาลนี้จริงๆแล้วเขาจัดให้เฉพาะคนจีนที่อยู่ในหอพักสิบสอง(ที่ผมพักอยู่เท่านั้น) สองวันก่อนหน้านี้ผมเห็นว่าเขากำลังเตรียมงานกันผมเลยหาทางมาร่วมฉลองกับเขา ผมเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมของคนจีนและหากได้รู้จัดคนจีนที่นี้บางก็คงจะมีเพื่อนต่างเชื้อชาติอีกหลายคน เสียอย่างเดียวคือ ผมพูดภาษาจีนไม่ได้ ซึ่งนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญทีเดียวละครับเพราะสมาคมคนจีนย่อมไม่ใช้ภาษาอื่นในการสื่อสารอยู่แล้ว

พอใกล้ถึงวันงานผมก็ไปชวนเพื่อนที่เรียนโปรแกรมเดียวกันที่หอข้างๆ เป็นชาวจีน(เคยอยู่ในสมาคมนี้มาก่อน)ให้มาเป็นล่ามให้ วิธีของผมได้ผลครับ ผมเข้าสมาคมชาวจีนได้อย่างง่ายดายที่เดียว ตอนแรกก็มีเพื่อนคอยแปลให้แต่หลังๆ พวกนักเรียนจีนมันเห็นว่าลำบากมันเลยพูดอังกฤษกับผมเองซะเลย มาอยู่ที่หอแรกๆ เห็นเขามีหลายเชื้อชาติหลายภาษาก็คิดว่าเขาอยู่กันอย่างสมานฉันท์ แต่พอรู้จักเข้าจริงๆแล้วรู้สึกได้ว่าประเทศนี้มีปัญหาด้านเชื้อชาติไม่น้อยเหมือนกันความเห็นผมคิดว่า ชาวจีนในมาเลย์ถูกจัดให้เป็นชนชั้นสองรองจากชาวมาเลย์ หากจะพูดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ หรือความเสมอภาค ตามแนวคิดตะวันตกหรืสิทธิมนุษยชนแบบฝรั่งเศสในประเทศนี้ก็ลืมไปได้เลยครับ ที่เขาอยู่ร่วมกันได้เพราะเขาแยกกันอยู่ครับ ประมาณว่าไม่ทะเลาะกัน แต่ก็ไม่อยากคบกัน เรื่องนี้คงต้องสัมผัสกันไปอีกซักพักละครับถึงจะวิจารณ์ได้ ขอติดไว้ก่อนละกันนะครับ

เทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ก็เหมือนกันงานรับน้องใหม่บ้านเราละครับ นิสิตจะถูกแบ่งออกเป็นบ้านๆ (ผมก็ติดไปอยู่ในบ้านหนึ่งไปโดยปริยาย) พวกน้องๆต้อนรับผมดีมากๆ คิดไปคิดมาพวกชาวจีนตอนรับเราดีกว่าพวกมาเลย์แท้ๆซะอีก จนบางทีผมคิดว่าผมอาจจะหัดภาษาจีนกลางแทนที่จะเอาดีกับภาษามาเลย์ซะแล้วละครับ ผมกับน้องๆเล่นเกม ร้องรำทำเพลง ใต้พระจันทร์ดวงโต และที่ผมชอบที่สุดคือการเดินถือโคมไฟกระดาษไปรอบๆหอครับ(คงเป็นเพราะเป็นเด็กชอบเล่นกับไฟเลยทำให้ผมสนุกเป็นพิเศษ) บรรยากาศดีมาก อากาศเย็นๆเดินถือโคมไฟ ดูหมวยๆ เล่นดอกไม้ไฟ..... เฮออ เหมือนอยู่ในฮ่องกงเลย.....

พองานจบผมได้เพื่อนใหม่มาอีกโหล เป็นชาวจีนซึ่งผมคิดว่ายากที่จะเจาะกลุ่มเข้าไปได้(เพราะเขาสามัคคีกันมากและไม่ยุ่งกับพวกมาเลย์หรืออินโดที่ผมคบที่หอ) นอกจากนั้นในกลุ่มเพื่อนใหม่ยังมีนิสิตนิติศาสตร์ร่วมอยู่ด้วยอีกสองคน คิดว่าอนาคตอันใกล้เด็กนิติฯ จุฬา คนนี้จะไปเยือนถิ่นนิติฯมาลายา ครับ ไว้คอยติดตามละกันนะครับ

22 September 2007

เพื่อนๆของนักเรียนไทยในต่างแดน


เพื่อนๆของนักเรียนไทยในต่างแดน

ถึงตอนนี้ก็พ้นสัปดาห์ที่สองแล้วครับ ตอนนี้ก็เริ่มรู้อะไรเป็นอะไรบ้างแล้วละครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้ก็คือ การทำความรู้กับเพื่อนใหม่ๆแล้วก็หากลุ่มให้กับตัวเองซะ ผมคิดว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ว่าที่ใหนก็ตามหากเราได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ดี มีความสามารถและสามัคคีกัน เราก็จะพากันมีความสุขไปเอง นอกจากนั้นกลุ่มเพื่อนๆจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเราตลอดระยะเวลาการศึกษาอีกด้วย การเลือกคบเพื่อนที่ม.มาลายานี้แตกต่างกับจุฬาฯเป็นอย่างมากเลยครับ ทั้งนี้เนื่องจากหลักสูตรที่ผมเรียนอยู่ประกอบไปด้วยคนหลายชนชาติหลากเชื้อสาย คนยุโรปก็จะจับกลุ่มกับคนยุโรป คนจีนก็จะจับกลุ่มกับคนจีน แขกอินเดียก็อยู่ด้วยกันกับมาเลย์ ส่วนคนไทยนั้นก็จะอยู่กับคนลาว(พูดภาษาเดียวกันไงครับ) นั่งกันเป็นกลุ่มๆดูแล้วเหมือนกับเป็นทวีป สำหรับผมก็เวลาเรียนก็จะติดอยู่กับกลุ่มสาวๆมาเลย์(พอดีมีแม่ยกอยู่ในนั้น) ส่วนเวลาเล่นหรือเวลาไปกินข้าวก็จะไปกับคนจีนกับญี่ปุน โดยเฉพาะช่วงหลังๆจะติดไปกับญี่ปุ่นเป็นหลัก ขนาดที่ว่าคนมาเลย์ยังมาพูดญี่ปุ่นใส่ก็มี(นึกว่าเราเป็นญี่ปุ่นมั้ง) จะว่าไปหน้าตาผมก็เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะเวลาไปสั่งข้าว พวกแขกมาเลย์ก็จะนึกว่าเป็นคนจีนมาเลย์ ก็พูดมาเลย์ใส่ ส่วนเวลาไปสั่งร้านจีน พวกจีนก็พูดจีนกลางใส่ เวลาอยู่กับญี่ปุ่นก็โดนเหมาร่วมว่าเป็นญี่ปุ่นซะอีก แต่จะว่าไปผมก็แอบภูมิใจอยู่เหมือนกันนะ(ป.ปรื๋อโกอินเตอร์)

คนมาเลย์เรียกผมว่า "ปัด" เพราะออกเสียงอักษร P ไม่ได้

คนยุโรปกับอเมริกัน เรียกว่า "แพด" ตามที่มันเคยชิน

พวกยุ่นเรียกผมว่า "พัดโต่ะ"

ส่วนแฟนผมเรียก "เจ้าอ้วน" มั่ง "พ่อพุ่งโต" มั่ง ++? เฮอออออ.................

ผมเสียดายโอกาสคนไทยที่มาทุนเดียวกันอยู่เหมือนกัน พวกเขาจับกลุ่มอยู่ด้วยกันเองเรียนด้วยกันเที่ยวด้วยกัน พอเวลาอยู่ด้วยกันเองก็พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้พูด ต่างกับพวกญี่ปุ่นที่ยามที่เราเข้าไปนั้งอยู่ด้วยเขาจะพูดภาษาอังกฤษเพื่อให้เราไม่รู้สึกถูกโดดเดี่ยว(ยกเว้นเวลามันนินทาเรานะครับ มันจะพูดญี่ปุ่นกันแล้วหันมามองเราด้วยหางตาเหมือนในการตูนเลย) แต่ก็ไปว่าเขาไม่ได้เราพี่ๆคนไทยที่มาด้วยกันแก่กว่าผมเกือบรอบ เขาคงยังเขินที่จะพูดอังกฤษกันเอง ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไทยเรียนภาษาอังกฤษมากว่าสิบสองปีแต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้(เพราะไม่ได้ใช้นั้นเอง)

20 September 2007

ห้อง หอ มาลายา


ครั้งนี้ขอเปิดประเด็นถึงเรื่องระบบการจัดหอในของมหาวิทยาลัยมาลายา ผมคิดว่าผมทำลายสถิติของนักเรียนต่างชาติที่มาเรียนโปรแกรมเดียวกันซะแล้ว กล่าวคือ ตั้งแต่มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผมย้ายห้องหอมาแล้ว 4 ครั้ง(สองหอ) ภายในเวลาสิบวัน ถือได้ว่าผมมีประสบการณ์มากที่เดียวสำหรับที่อยู่อาศัยในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ที่นี้เขาจะจัดให้มีหอในจำนวนสิบสองหอ แต่ละหอก็เป็นอิสระออกจากกัน หากใครที่เคยไปเยี่ยม Oxford ก็คงจะทราบว่ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษจะแบ่งเป็น College มหาวิทยาลัยมลายาก็เกิดในยุคอาณานิคม ดังนั้นก็ไม่แปลกอะไรที่ระบบการจัดการของมหาวิทยาลัยที่นี้จะคล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยอังกฤษ แต่ละหอจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน บางหอเก่งกีฬา บางหอมีสมาคมนักเรียนจีน บางหอก็เหมาะสำหรับสตรีมุสลิม บางหอรับเฉพาะนิสิตปริญญาโท ตอนแรกนั้นผมอยู่หอสิบเอ็ด ซึ่งเป็นหอสำหรับพวกบัณฑิตศึกษา แต่ด้วยสภาพห้องที่ด้อยคุณภาพประกอบกับอากาศที่ร้อนชื้นทำให้ห้องเหม็นอับเกือบตลอดเวลา ผมอยู่ได้คืนเดียวก็ต้องขอย้าย ตอนแรกก็ย้ายในหอ แต่ต่อมาก็ทนไม่ไหวอีกเหมือกันเพราะห้องที่เขาจัดให้มันเป็นห้องเหลือที่ไม่มีใครเขาเอา โดยปรกตินิสิตจะเขาเรียนประมาณมิถุนายน(เหมือนบ้านเรา) แต่ด้วยความที่เราเป็นนักเรียนอินเตอร์ เปิดเทอมช้ากว่าเพื่อน เพื่อนๆ น้องๆ ก็เลยหยิบชิ้นปลามันไปหมด โธ่....เวรกรรม หลังจากนั้นผมก็ไปเจอเพื่อนชาวอินโดคนหนึ่งกำหลังหารูมเมตอยู่เลยไม่ลังเลใจ ตอบตกลงหอบข้าวของย้ายมาทันที ปรากฏว่าสิ่งที่ได้รับคือ ผมนอนไม่หลับไปอีกเกือบสัปดาห์เนื่องจาก พ่อหนุ่มคนนี้มันสูบยาหนักมากแถมสูบในห้องที่เรานอนอีกด้วย ไอ้เราก็เป็นเด็กดี ไม่สูบบุหรี่ โดนควันบุหรี่เข้ามากๆก็เกิดอาการแพ้ซิครับ แค่สูบบุหรี่นะมันยังพอทนเพราะใครๆที่นี้ก็สูบกัน(แล้ววันหลังจะเปิดประเด็นเรื่องนี้นะครับ) พี่อินโดแกเล่นห้ามผมเปิดพัดลมกับหน้าต่างเวลานอนเพราะมันเป็นภูมแพ้ ถูกพัดลมเป่าแล้วเวลาตื่นมาจะเป็นหวัด ตรงนี้แหละที่ทำเอาผมฟิวส์ขาด ประเทศมาเลเซียอยู่บริเวณศูนย์สูตรมีสภาพอาการร้อนชื้น นี้เล่นปิดห้องสูบยา นอนในห้องอับๆ(ที่อัดควัน) ใครจะไปทนไหวละครับ คิดไปคิดมาแย่กว่าห้องเดิมที่ย้ายออกมาอีก ผมเลยขอย้ายไปอยู่กับชาวจีนแทน โชคดีที่ยังมีที่ว่างผมก็หอบผ้าหอบผ่อนย้ายหนีควันอินโดมาอยู่กับจีน แต่กระนั้นผมก็ยังไม่เจอเมตคนนี้ครับ เพราะว่าเขายังไม่ย้ายเข้ามาตอนนี้อยู่คนเดียว นอนตีพุงสบายแฮ ไม่รู้ว่าจะหนีแขกอินโดมาปะเจ็กหรือเปล่านะ?

19 September 2007

Urbanization เมืองมาก่อนหรือถนนมาก่อน?

ผมได้มีโอกาสไปทานอาหารเย็นกับศิษย์เก่ามาเลย์คอล์เลจ (MACOBA) ชื่อพี่ริซัล ผมกับพี่ริซัลรู้จักกันมาก็ประมาณสามปีเห็นจะได้ พี่ริซัลแกเพิ่งซื้อบ้านใหม่ห่างออกไปจากเคแอลประมาณ 45 นาที เลยชวนผมไปเที่ยวบ้านแก ผมสังเกตได้ว่าการพัฒนาที่ดินของเขามีคุณภาพมากๆ มีการวางผังเมืองเป็นอย่างดี กล่าวคือเริ่มแรกจะสร้างถนนหนทางให้ดีซะก่อนจากนั้นก็จะให้เอกชนเขามาจัดสรร เป็นหมู่บ้านจัดสรร บ้านเมืองเลยดูเป็นระเบียบมาก ผิดกับประเทศไทยที่การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบเท่าไรนัก สร้างแล้วก็ทุบ ทุบแล้วก็สร้าง ใช้ได้ไม่กี่ปีก็เกิดโครงการใหม่ก็ทุบของที่เพิ่งสร้างแล้วเริ่มไม่กันอีกครั้ง แม้ว่าเมื่อหลายปีที่แล้วกทม.มีโครงการถนนปลอดการขุดแต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผมก็ยังเห็นถนนหลายสายถูกทุบกันอย่างสนุกมืออยู่ดี

การผังเมืองนับว่ามีความสำคัญมากใดด้านการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากร ผมเห็นการวางแผนสร้างเมืองของเขาแล้วก็ประทับใจมากๆ เขาสร้างสาธารณูปโภคไว้เรียบร้อย ถนนคุณภาพเยี่ยมมีทางด่วนรองรับ น้ำ ไฟ เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คนจะย้ายเขามาอยู่อาศัยเสียอีก การวางผังเมืองของที่นี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของชาวไทยได้ หากเราวางแผนมาดีๆแล้ว ปัญหาเรื่องค่าชดเชยสนามบินสุวรรณภูมิคงไม่เกิดหรอกครับ มีที่ไหนสนามบินสร้างมาสี่สิบกว่าปี คนก็ดันไปซึ้อบ้านใกล้กับบริเวณสนามบินทั้งๆที่ก็รู้อยู่ว่าอาจจะหนวกหูได้หากสนามบินสร้างเสร็จ เรื่องสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นอีกบทเรียนหนึ่ง(ที่คนไทยไม่เคยสำนึก)ของการไม่วางแผนล่วงหน้าที่ดี

Urbanization เมืองมาก่อนหรือถนนมาก่อน?

ผมได้มีโอกาสไปทานอาหารเย็นกับศิษย์เก่ามาเลย์คอล์เลจ (MACOBA) ชื่อพี่ริซัล ผมกับพี่ริซัลรู้จักกันมาก็ประมาณสามปีเห็นจะได้ พี่ริซัลแกเพิ่งซื้อบ้านใหม่ห่างออกไปจากเคแอลประมาณ 45 นาที เลยชวนผมไปเที่ยวบ้านแก ผมสังเกตได้ว่าการพัฒนาที่ดินของเขามีคุณภาพมากๆ มีการวางผังเมืองเป็นอย่างดี กล่าวคือเริ่มแรกจะสร้างถนนหนทางให้ดีซะก่อนจากนั้นก็จะให้เอกชนเขามาจัดสรร เป็นหมู่บ้านจัดสรร บ้านเมืองเลยดูเป็นระเบียบมาก ผิดกับประเทศไทยที่การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบเท่าไรนัก สร้างแล้วก็ทุบ ทุบแล้วก็สร้าง ใช้ได้ไม่กี่ปีก็เกิดโครงการใหม่ก็ทุบของที่เพิ่งสร้างแล้วเริ่มไม่กันอีกครั้ง แม้ว่าเมื่อหลายปีที่แล้วกทม.มีโครงการถนนปลอดการขุดแต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผมก็ยังเห็นถนนหลายสายถูกทุบกันอย่างสนุกมืออยู่ดี

การผังเมืองนับว่ามีความสำคัญมากใดด้านการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากร ผมเห็นการวางแผนสร้างเมืองของเขาแล้วก็ประทับใจมากๆ เขาสร้างสาธารณูปโภคไว้เรียบร้อย ถนนคุณภาพเยี่ยมมีทางด่วนรองรับ น้ำ ไฟ เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คนจะย้ายเขามาอยู่อาศัยเสียอีก การวางผังเมืองของที่นี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของชาวไทยได้ หากเราวางแผนมาดีๆแล้ว ปัญหาเรื่องค่าชดเชยสนามบินสุวรรณภูมิคงไม่เกิดหรอกครับ มีที่ไหนสนามบินสร้างมาสี่สิบกว่าปี คนก็ดันไปซึ้อบ้านใกล้กับบริเวณสนามบินทั้งๆที่ก็รู้อยู่ว่าอาจจะหนวกหูได้หากสนามบินสร้างเสร็จ เรื่องสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นอีกบทเรียนหนึ่ง(ที่คนไทยไม่เคยสำนึก)ของการไม่วางแผนล่วงหน้าที่ดี

16 September 2007

รถเมล์มาเลย์


สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางในKLคนเดียวหลายครั้งแล้วละครับ ส่วนใหญ่ก็จะใช้รถเมล์กับรถไฟฟ้าเป็นหลัก พูดถึงรถเมล์ที่นี้แล้วก็มีลักษณะแตกต่างไปจากบ้านเราอยู่มาก ระบบขนส่งมวลชนที่เคแอลนี้จัดว่าออกแบบได้ดีทีเดียว มีรถไฟฟ้าอยู่หลายสาย แต่ที่วันนี้จะเล่าให้ฟังคือรถเมล์เมืองกรุง
รถเมล์ที่นี้แบ่งออกเป็นสองประเภท คือรถเอกชน กับรถของรัฐ ถ้าเป็นรถเอกชนก็จะมีลักษณะคล้ายรถเมล์บ้านเราอยู่มาก ส่วนรถรัฐนั้นก็จะมีลักษณะคล้ายๆกับรถเมล์รุ่นใหม่ในลอนดอน คือมีคนขับคนเดียว เป็นทั้งคนออกตั๋วและคนขับในเวลาเดียวกัน(พูดง่ายๆก็เหมือนกับขึ้นไมโครบัสนั้นแหละครับ)
วัฒนธรรมการใช้รถเมล์ที่นี้ไม่เหมือนกับไทยเลยละครับ คนกรุงส่วนใหญ่ไม่นิยมรถเมล์เสียเท่าไร ทั้งนี้ก็เพราะว่าหากท่านเป็นคนชั้นกลางแล้ว คงจะหาซื้อรถขับได้ไม่ยาก ทั้งนี้ก็เนื่องจากประเทศนี้มีรัฐวิสาหกิจที่ผลิตรถยนต์ถึงสองแห่ง รูปร่างรถก็มีตั้งแต่รถเล็กๆราคาแสนกว่าๆ ไปจนถึงระดับน้องๆBMW นอกจากนั้นหากเป็นคนจนก็นิยมซื้อมอไซค์ขับมากกว่าที่จะนั่งรถเมล์ รถเมล์ที่นี้เลยมีไม่มากเท่ากับกรุงเทพฯ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย เป็นประเภทเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณครับ
คนที่ต้องการจะใช้บริการก็จะต้องไปนั่งคอยที่ป้ายรถเมล์ แต่ละคันจะมีรอบของตัวเองโดยปรกติจะมาประมาณ สิบห้า ถึงยี่สิบนาทีต่อคัน แต่บางสายอาจกินเวลาถึงสี่สิบห้านาที เรียกว่ารอกันเหงือกแห้งเลยละครับ ส่วนเวลาขึ้นก็ต้องขึ้นด้านหน้าแย่งกันขึ้นเหมือนกับคนไทย เวลาลงก็แย่งกันลงไม่ต่างกัน ต่างกันที่นั่งไม่สบายเหมือนกับรถยูโรทูที่บางกอกก็เท่านั้น
สำหรับราคาก็เรียกว่าสมเหตุสมผล อยู่ระหว่าง สิบบาทถึงสามสิบ ขึ้นอยู่กับระยะทาง ระบบโดยร่วมก็เหมือนกับรถเมล์ลอนดอนที่แบ่งออกเป็นโซนๆ แต่ละโซนก็มีราคาแตกต่างกัน หรืออาจจะเป็นผมบ้านเราเองที่แปลกก็ไม่รู้เลยรู้สึกว่ารถเมล์ที่นี้เชื่องช้าเหมือนช้างตัวโตๆ คงหากอยู่ไปซักพักคงจะเชื่องช้าตามเขาเป็นแน่แท้

15 September 2007

He may be a professor, but he isn't a scholar.

15/9/2007, 9:18 AM

เมื่อวาน(14 ก.ย. 50) ตื่นเช้ามาลงไปโรงอาหารหอถึงกับมึน เพราะแปดโมงกว่าแล้วโรงอาหารยังปิดหมดทุกร้าน สาเหตุหรือครับ ก็เนื่องจากเป็นเทศกาลรอมาฎอน ชาวมุสลิมจะถือศีลอด ไม่ทานอาหารตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกเลยละครับ ผมก็ตกใจซิตอนแรกไม่รู้นิว่าจะเริ่มวันนี้ แล้วทำไงได้ละครับอาหารก็ไม่มีตุนไว้ อดกินข้าวไปครึ่งวันโชคดีที่ตอนเที่ยงๆมีร้านอาหารเปิดบ้างเลยพอเอาตัวรอดมาได้

ช่วงนี้ยังไม่มีการเรียนการสอน ผลเลยถือโอกาสออกไปเที่ยวใน KL คนเดียวเป็นครั้งแรก นั้งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้า สะดวกดีเหมือนกันนะครับ เสียแต่ว่าระบบป้ายบอกสัญญาณ กับภาษาที่เขาใช้บางทีมันมีแต่ มาเลย์กับจีน ไม่มีภาษาอังกฤษ ก็เลยต้องถามไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้คำตอบที่ต้องการ ผมก็ไปดูตึกเปโตรนาสตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก(แหง ดิ ก็ บินลาเดนมันถล่มWTCไปแล้วนิ) แต่ก็อยู่ได้แต่ข้างล่างละครับ เดินเล่นในศูนย์การค้าได้อารมณ์เหมือนเดินในสยามดิส ผมว่ายังเอามาเทียบกับพารากอนหรือเอ็มโพบ้านเราไม่ได้หรอกครับ ของเราดีกว่าหลายขุมนัก มันสะดวกหน่อยตรงที่รถไฟฟ้าใต้ดินผ่านใต้ตึก ไม่ต้องเดินออกไปนอกตึกให้เสียเวลา จริงๆแล้วที่มาเดินเปโตรนาส(KLCC) ก็เพราะว่านัดกับ Dato Latt (ต่อไปจะเรียนว่าพี่แลต) ไว้ ผมกับพี่แลตรู้จักกันมากว่าเจ็ดปีแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียนอยู่วชิราวุธฯ ตอนนั้นกลับจากทุนพระยาปรีชานุสาสน์(Shrewsbury School)ใหม่ๆ โรงเรียนเลยให้ไปรับแขกต่างชาติ ผมกับพี่แลตสนิทกันมากเรียกว่าเกือบทุกครั้งที่พี่เขามาเมืองไทยเราต้องหาเวลานัดกัน หรือไม่ก็โทรคุยกัน ระหว่างที่รอพี่แลตผมไปเดิน Kinokuniya หา lonely planet มาอ่าน หนังสือที่นี้ถูกมากเพราะรัฐบาลเขาไม่เก็บภาษีกระดาษ/หนังสือ เพื่อจะส่งเสริมให้คนซื้อหนังสืออ่าน ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากเลยละครับ เพราะเมื่อหนังสือราคาถูกก็เท่ากับว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น หลังจากซื้อหนังสือแล้วก็มาหามุมดีๆใน food court อ่าน ไปจิบกาแฟไป มีความสุขจริงๆ

พี่แลตส่งรถมารับเป็นรถประจำตำแหน่งมีตราวีไอพีติดข้างหน้าอีกตั้งหาก แถมจอดหน้าห้างที่เข้าห้ามคนทั่วไปจอดได้อีกด้วย ตอนแรกก็รู้สึกประหม่าอยู่เหมือนกัน เอาละไหนๆก็มาแล้ว รถก็วนมารับพี่แลตที่โรงแรมแห่งหนึ่ง จากนั้นพี่แลตก็บอกว่าจะพาไปพบกับท่านทูต ผมก็นึกในใจว่า ดีละจะได้ให้พี่แลตฝากฝังให้ อีกทั้งเราก็ยังไม่ได้มารายงานตัวต่อสถานทูตตามใบสั่ง ก.พ. ด้วย รถก็วนไปวนมา มาจอดหน้าบ้านหลังหนึ่ง สังเกตสิ่งผิดปรกติคือธงหน้าบ้านมันมีสามสีนิ แถมคนยังเต็มบ้านอีกด้วย ทุกคนแต่งกายอย่างเรียบร้อย ผู้หญิงก็สวมชุดราตรี ส่วนคุณผู้ชายก็สวมเสื้อนอกสีดำ แต่ปลดกระดุมคอ ส่วนผมสวมเสื้อเชิตแขนสั่นกางเกงยีน มารู้จากพี่แลตอีกทีว่าคืนนี้ท่านทูตอิตาลีเชิญทูตนานาชาติกับนักธุรกิจที่สำคัญมาเลี้ยงอาหารเย็น ทำเอาผมอึงไปเลย ตอนแรกก็ทำอะไรไม่ค่อยถูกได้แต่ยืนยิ้ม พอถึงเวลานั่งโต๊ะอาหารเขาจัดชื่อและที่นั้งไว้หมดแล้ว ผมก็ไปนั่งในตำแหน่งภรรยาพี่แลต(ซึ่งไม่ได้มาในวันนี้) ด้านซ้ายเป็นทูตชิลี ด้านขวาเป็นทูตไอแลนด์ ถัดไปเป็นนักธุรกิจมาเลย์อีกสองท่าน และก็นักธุรกิจอินเดีย ส่วนพี่แลตหรือครับ นั่งถัดไปอีกสองโต๊ะ แถมหันหลังให้กันอีก โอ้.. เหมือนโดนแกล้ง ตอนแรกก็ไม่มีใครคุยด้วยและก็ไม่รู้จะคุยกับใคร เพราะเรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับโครงการใหญ่ๆ การลงทุน นโยบายเศรฐกิจของมาเลย์ อะไรทำนองนี้ ทุกคนมีส่วนได้เสียกันหมด ยกเว้นผมซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลย แต่แล้วท่านทูตไอแลนด์(ท่านยูจิน) ก็ถามว่า "แล้วเราละ มาอยู่ตรงนี้ได้ไง" เพราะท่านก็คงงงว่าทำไมคนไทยมากับ รมช.มาเลย์ (แต่ทูตไทยไม่มา) ผมก็พยายามบอกว่าผมได้รับทุนรัฐบาลมาเรียนแล้วพอดีรู้จักพี่แลต เลยถูกลักพาตัวมา

ท่านทูตยูจินคุยสนุกมากท่านเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไอริชให้ฟัง แล้วก็ชีวิตในวัยเรียนของท่านที่ประเทศไอแลนด์ เรื่องที่ผมประทับใจมากคือ ตอนที่ท่านเรียนโทอยู่ ท่านมีอาจารย์เป็นชาวอังกฤษซึ่งมีบุคลิกแบบคนอเมริกัน สูบบุหรื่ในห้องเรียน ชอบมองผ่านปลายจมูกทำให้ดูยิ่ง โดยรวมคือทำเอานักเรียนขวัญเสียได้ในบางครั้ง วันหนึ่งท่านเข้าไปเสนอวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ผู้นี้ ท่านอ่านผ่านๆแล้วบอกว่าการอ้างอิงยังไม่ดี ไม่เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีลักษณะทางวิชาการ ในขณะที่ท่านทูตจะเถียงว่าก็อ้างอิงมาเยอะแล้วนิ อาจารย์ก็ตัดบทว่า "ผู้เขียนหนังสือที่คุณอ้างแม้จะเป็นศาสตราจารย์ แต่เขาไม่ได้เป็นนักปราชญ์"(He may be a professor, but he isn't a scholar.) คำนี้แหละครับที่ผมชอบมาก เพราะการเป็นนักปราชญ์นั้นต่างกับศาสตราจารย์หลายขุมนัก ผมกับท่านทูตยิ่งคุยยิ่งสนุกคอ เราแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในประเทศไทย(เพราะท่านก็เป็นทูตประจำประเทศไทยด้วย) การเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์กับการปกครอง การปฏิวัติ ฯลฯ พินิจแล้วท่านคงจะติดใจผมมากขนาดที่ให้ผมนัดท่านทานข้าวเย็นด้วยกันอีก ท่านว่าจะเล่าประวัติศาสตร์การเมืองในยุโรปให้ฟังและจะแถมให้ด้วยว่าทำไมการเมืองไทยจึงประสบปัญหา

หลังจากทานอาหารเสร็จก็มาจับกลุ่มคุยกับคนอื่นๆอีก นับว่าเป็นการออกงานในมาเลย์ครั้งแรกที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน แต่ก็ไม่เลวทีเดียวนะครับ เพราะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พี่แลต surprise แบบนี้ แต่คราวนี้ต้องติจริงๆว่าน่าจะบอกกันหน่อยนะ จะได้แต่งตัวให้มันเหมาะสมกว่านี้ เอาละอย่างไรก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เจอผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้(แม้จะนุ่งกางเกงยีนก็ตาม)

14 September 2007

สี่วันแรกในมาเลย์

นี้ก็เป็นวันที่สี่แล้วในมหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยที่จัดว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์นั้นมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงมากที่เดียว หากให้เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยของไทยก็คงเปรียบได้กับจุฬาฯหรือธรรมศาสตร์นั้นแหละครับ สำหรับหลักสูตรที่ผมมาเรียนก็จะเป็น International Master of ASEAN Studies หลักสูตรนี้จะประกอบไปด้วยนักเรียนทุนจากประเทศอาเซียนต่างๆ (แต่รุ่นผมมี 3 ประเทศที่ไม่ส่งมาคือ สิงคโปร์ กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์) นอกจากนั้นยังมีบางส่วนที่มาจากประเทศ ญี่ปุน จีน ปากีสถาน อิตาลี ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา สรุปแล้วโดยร่วมก็เป็นโปรแกรมที่รวมคนหลายๆเชื้อชาติมานั่งถกเถียงกันในประเด็นต่างๆที่ผู้เขียนหลักสูตรวางไว้ เท่าที่ได้รับฟังมาก็นับว่าน่าสนใจทีเดียวครับ จุดที่น่าสักเกตก็คือทุกคนที่มาเรียนโครงการนี้ต่างก็ได้รับทุนทั้งนั้น เพื่อนๆของผมจึงจัดได้ว่ามีคุณภาพในระดับหนึ่งทีเดียว แม้ว่าจะไม่ได้เป็น Top class แต่ก็มีสติปัญญา

นอกจากเรื่องเรียนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือเรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่และอาหารของชาวมาเลย์เซีย ประเทศมาเลยเซียประกอบไปด้วยเชื้อชาติ 3 ประเภทหลักๆ คือ มาเลย์ จีน และ อินเดีย ทั้งสามเชื้อชาติอยู่ร่วมกันโดยต่างก็รักษาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างดีที่เดียว เช่น ภาษาที่ใช้ อาหารการกิน วัฒนธรรมการใช้ชีวิตและความเชื่อ แต่การที่ได้เห็นความแตกต่างแต่ไม่แตกแยกของคนที่นี้ก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย

ตอนนี้ผมได้เพื่อนร่วมห้อง(Roommate)เป็นชาวอินโดนิเซีย เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมาระยะหนึ่งเขาจึงไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของเรามากนัก ปัญหากลับอยู่ที่ผมเองที่บางทีก็ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของเขา เช่น เรื่องการสูบบุหรี่ คนอินโดสูบบุหรี่จัดมาก ประการนี้รวมไปถึงชาวมาเลย์บางส่วนด้วยนะครับ มีคนบอกว่าที่พวกเขาสูบจัดก็เนื่องจากศาสนาอิสลามห้ามไม่ให้ดื่มสุรา เมื่อดื่มสุราไม่ได้พวกเขาก็มาลงกับบุหรี่แทน การสูบบุหรี่ที่นี้เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าปรกติมาก ไม่เหมือนกับที่เมืองไทยที่คนสูบบุหรี่ถูกทำให้มีภาพลักษณ์ที่หน้ารังเกียจ ที่แย่กว่านั้นคือรัฐบาลก็ไม่รณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทยาสูบของประเทศทั้งสองนี้มีผลกำไรที่สูงมาก และบริษัทยาสูบก็เป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทตะวันตกอีกด้วย มีกำไรมากก็มีเงินมาก มีเงินมากก็มีอำนาจมาก มีอำนาจมากก็อย่างที่รู้ๆกันละครับ....

ไปเรียนเมืองนอก ไปเรียนมาเลเซีย



ก่อนอื่นต้องขอเล่าถึงความเป็นมาก่อนว่าทำไมผมถึงมาเรียนที่มาเลเซีย ที่อยากจะเล่าก็เนื่องจากก่อนที่จากประเทศไทยมาผมไม่ได้เล่าให้ใครฟังเท่าไรว่าผมจะมาเรียนที่มาเลย์ เพื่อนๆหลายๆคนคงสงสัยว่าทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนที่มาเลย์
ประการแรก ถึงแม้ว่าผมกำลังเรียนโทที่จุฬาฯ ปีสองแล้วก็ตาม แต่ผมรู้สึกว่าปริญญาโทที่ผมเรียนอยู่นั้นได้ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดวิชาการในประเทศจริงๆ และผมก็ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่าจะใช้ปริญญาโทกฎหมายมหาชนไปทำอะไร เพราะหากจะใช้เพื่อสมัครเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็จะให้เครดิตกับโทนอกมากกว่า ดังนั้นผมเกิดความรู้สึกไม่ดีว่า ทำไมเด็กที่จบโทกฎหมายในประเทศ หากต้องการตำแหน่งดีๆก็ต้องไปขวนขวายหาโทนอกมาประกอบ(ทั้งๆที่ความเป็นจริงโทในน่าจะเรียนจบยากกว่าโทนอกเสียอีก) คิดได้ดังนั้น โทในอีกสาขาหนึ่งที่เป็นสาขานอกเหนือจากกฎหมายที่ร่ำเรียนมาห้าปีเต็มก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
ประการที่สอง ผมคิดว่าการมาเรียนที่ประเทศมาเลเซียจะเป็นประโยชน์ต่อผมมากเพราะผมมีสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนเก่า Malay College ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวชิราวุธวิทยาลัยมาอย่างช้านาน หากผมได้สานสัมพันธ์ที่ดีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก็จะทำให้ผมมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ผมยังรู้สึกอีกว่าเพื่อนบ้านเรานี้แหละที่น่าสนใจ หากเราไม่ศึกษาเรื่องของเราเอง หากเราไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ในภูมิภาคของเรา การนำเข้าวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ในประเทศก็จะผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น เรื่องนี้คงไม่ต้องขยายความเพราะผมคิดว่าเราคนไทยต่างก็รู้กันดีอยู่แล้ว
ประการที่สาม ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจได้ก็คือ ทุนนี้เป็นทุนเต็ม ได้ทั้งค่าเล่าเรียน กินอยู่ ที่หลับที่นอน เรียกจะได้ว่าฟรีเกือบทุกอย่าง แม้ว่าจะต้องกลับไปใช้ทุนที่จุฬาฯก็ตาม กระนั้น ผมก็ยังสามารถประหยัดเวลาในการเรียนโทได้อีกโข
คิดได้ดังนี้ ผมก็เลยตัดสินใจว่าหนึ่งปีข้างหน้านี้จะไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆจากบ้านใกล้เรือนเคียงนี้ละครับ