23 September 2006


อย่างที่บอกของแบบนี้มีแต่ที่ประเทศไทย.....
โล่งใจที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ

22 September 2006

โจ๊กรัฐประหาร



ผมต้องขอพักการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเนื่องจากมีคำสั่งคณะปฏิวัติออกมาโดยให้เหตุผลเพื่อความสามัคคีของชาติบ้านเมืองนะครับ เอาว่าคราวนี้มีเรื่องขำขำมาฝาก เป็นเกร็ดการรัฐประหารครั้งนี้ครับ

1.รัฐประหารครั้งนี้คงเป็นการรัฐประหารที่น่ารักที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
รถถังออกมาวิ่งกันเต็มเมือง แรกๆคนก็ตกใจ ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมงคนไทยหอบลูกจูงหลานไปเที่ยวชม ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับทหารและรถถัง บางแห่งถึงขั้นให้เด็กๆขั้นเป็นเล่นเหมือนวันเด็กอีกด้วย อย่างในภาพแม้แต่ฝรั่งตาน้ำข้าวก็พลอยเป็นไทยมุงกับเขาด้วย "นี้รัฐประหารจริงๆหรือครับเพ่"
2.มีเรื่องเล่ามาจากเจ้าหน้าที่ อสมท. วันที่19ตอนกลางคืน ทหารในรถลำเลียงพลวิ่งมาจอดหน้าประตูอสมท.ที่ถ.พระราม9 ทหารหลายนายต่างรีบกระโดดลงจากรถบุกเข้ายึดตัวอาคาร "ชั้นหนี่งเคลียร์ สองเครียร์ สามเครียร์" ผ่านไปไม่กี่นาทีผลทหารสองสามนายก็ลากตัวรปภมาให้นาย นายทหารสั่ง "เรายึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว ขอให้คุณหยุกการออกอากาศวิทยุเดี๋ยวนี้" รปภตอบ "ผมเป็นแค่ยาม" ทหารหนุ่มสวนกลับทันควัน "นี้คือคำสั่ง" รปภอำอึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วกล่าวว่า "แต่........." "แต่...อะไร จะปฎิบัติดีๆหรือต้องให้ใช้กำลัง"ทหารตวาดอย่างรุนแรง รปภทำหน้าเซ้งแล้วเอ่ยว่า "คือผมเป็นยามทิพยประกันภัยครับท่าน ผมว่าสิ่งที่ท่านต้องการยึดมันอยู่ถัดไปจากตึกนี้" ทหาร ?????


อันนี้ไม่รู้จริงหรือเปล่าแต่ว่าก็มีมูลเหมือนกันเพราะหาเข้าอสมท.ทางพระราม9 ก็ต้องผ่านอาคารจอดรถไปก่อนถึงจะเจอตึกอำนวยการ หากไม่สังเกตก็คงไปผิดตึกนะครับ ฮิฮิ....

21 September 2006

ความเคยชินทางการเมือง


Soldiers Never Die! (From Thai Politic)

ประชาธิปไตย ประชารัฐ กับ นิติรัฐประหาร

ก่อนอื่นขอไวอาลัยให้กับรัฐธรรมนูญไทย ปี40 รธน.ฉบับที่เมื่อ 7 ปีก่อนมีคนออกมาสรรเสริญว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่ดีที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้มากที่สุดอีกด้วย บัดนี้ถึงวาระสุดท้ายของความรุ่งโรจน์ในรัฐธรรมนูญนิยมไปแล้ว ทางหนึ่งผมเสียดายสิ่งที่ร่ำเรียนมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ยังเอามาใช้ได้ไม่ถึง 4 เดือน รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกซะแล้ว อีกทางก็ดีใจที่ปัญหาบ้านเมืองที่เรื้อรังมาเกินครึ่งปีกำลังจะหมดลง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี concept หลักๆคือ รับรองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย สร้างเสถียรภาพให้กับการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง วางระบบสิทธิพื้นฐานที่คนไทยควรได้รับจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล การแสดงออกซี่งความคิดเห็นและเหนือสิ่งอื่นใดคือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งประการหลังนี้ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำได้ดีมาก ดังจะเห็นได้จากกรณีการชุมนุมประท้วงขับไล่นายกฯที่ผ่านมา กรณีอย่างนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากรัฐธรรมนูญไม่ได้วางหลักเช่นนั้นไว้ ผมก็ไม่แปลกใจเลยที่จะมีพรรคการเมืองแบบไทยรักไทยขึ้น การเมืองที่ผูกกับกลุ่มทุนนิยมใหม่ที่มีฐานจากรากหญ้า ก็รัฐธรรมนูญมันเขียนไว้ชัดในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หากพรรคอื่นๆจะสนใจกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้บ้างแล้วนำมันมาเป็นนโยบายของพรรค ไม่เล่นการเมืองแบบที่เคยเป็นมาในอดีต ผลก็จะออกมาในทำนองเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยทำ ผมขอพักไม่กล่าวถึงในเรื่องนี้ก็แล้วกันนะครับ สิ่งที่อยากจะเขียนในวันนี้คือเรื่องวุฒิภาวะทางการเมืองของคนไทย
ประชาธิปไตยคืออะไร เป็นคำถามที่สำคัญที่ทุกๆคนควรจะถามและเข้าใจก่อนจะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สำหรับผมตอบง่ายๆก็คือการที่การปกครองจากคนส่วนใหญ่ในสังคม แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือคนส่วนใหญ่ในสังคม ผมก็เห็นว่าเราจะรู้ได้โดยอาศัยการเลือกตั้งจากประชาชน ผลคือเราได้คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำการบริหารบ้านเมือง อันนี้เป็นแนวคิดง่ายๆสำหรับคำว่าประชาธิปไตย ผมจะถามต่อไปว่าแล้ว คำว่าประชาธิปไตยกับคำว่า รัฐธรรมนูญนิยมมันเหมือนกันหรือไม่ สำหรับผมมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญนั้นมันมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน กล่าวคือเป็นกฎหมายสูงสุดสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเปล่า ฉบับล่าสุดปี40 นี้ผมเห็นว่าเป็นเพราะ คนส่วนใหญ๋ของประเทศเป็นคนยากจน เกษตรกร พวกเขาต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ใช่ให้สวัสดิการแก่เฉพาะคนระดับกลางและสูงเท่านั้น แล้วคำถามว่าประชาธิปไตยจะมาได้จากผู้มีอำนาจได้หรือไม่ จริงๆแล้วสำหรับประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้นโดยเริ่มจากคณะราษฎร์ปฏิวัติ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ ตอนเริ่มต้นก็ไม่มีประชาราษฎร์เข้าไปมีส่วนร่วมซักเท่าไร มันไม่เหมือนกับประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสที่คนทั้งประเทศลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้านกษัตริย์ กลับกันคนที่อยากได้ประชาธิปไตยคือคนที่มีกำลังทหารอยู่ในมือ ดังนั้นประชาธิปไตยที่เราได้มาเลยเป็นประชาธิปไตยของทหาร แบบทหาร และเพื่อทหาร ลักษณะสำคัญก็คือหากมีปัญหาทางการเมืองที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็ทำการรัฐประหารเพื่อยุติปัญหา ต่อมาเมื่อนักการเมืองมาจากพลเรือนทางออกก็มีมากขึ้นมาเป็นการยุบสภา สิ่งที่เกิดขึ้นในคราวนี้ผมไม่รู้ว่ามันเป็นการถอยหลังลงคลองหรือว่าเป็นการที่อำนาจคืนสู่ทหารซึ่งเป็นเจ้าของแต่เดิมกันแน่
วงจรอุบาทว์(อย่างที่หลายๆคนเรียกกัน แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นเพราะมันคือการเมืองแบบทหาร) ได้กลับคืนมาสู่ระบบการเมืองอีกครั้ง กลับมาเพื่อเป็นทางออกให้กับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่อแร่งบิดไปบิดมา หากแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อการเมืองไทยและเป็นทางออกให้กับวิกฤติศรัทธาของนักการเมืองและระบบการเมืองแบบทุนนิยม ผมก็ยังคิดว่ามันเร็วเกินไปที่จะใช้วิธีนี้ เพราะ
1. ในเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และเราเรียกการปกครองของเราว่าประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหาก็ควรจะแก้ไปที่รัฐธรรมนูญ แก้ไปที่กฎหมายไม่ใช่ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่
2. การใช้กำลังเข้าแก้ปัญหาบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะความขัดแย้งยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ยังอยู่ในขั้นขู่กันไปกันมาอยู่เราก็ลงดาบเสียแล้ว หากรอให้เลือกตั้งเสร็จ หรือให้กลุ่มพันธมิตรฯประท้วงจนเกิดความรุนแรงก่อนแล้วค่อยรัฐประหาร ผมว่าจะมีความชอบธรรมมากกว่าทั้งในสายตาของต่างประเทศและในสายตาของนักกฎหมาย
3. สังคมที่เจริญแล้วเขามักยุติปัญหาด้วยการใช้องค์กรศาล ด้วยการเจรจา ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลัง หากเรามีกติกาแล้วไม่เคารพ ต่างคนก็ต่างจะทำสิ่งที่ตนต้องการสุดท้ายอำนาจเถื่อนก็จะกลับมา
ผมก็ได้แต่หวังว่าสิ่งที่ทหารทำจะเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว หากมีเจตนาแอบแฝงประเทศชาติคงจะเสียหายอย่างไม่ได้สัดสวน สิ่งที่น่ากลัวคือในขณะนี้เราไม่มีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของประชาชน ทหารจะทำอะไรก็ได้ ตอนนี้ทหารจะทำอะไรก็ไม่มีใครตรวจสอบ หากมีการยึดทรัพย์แล้วเงินไม่ได้เข้าคลังละใครจะเป็นผู้บังคับให้มันถูกต้อง แล้วถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้รับรองสิทธิที่เคยมีอยู่เดิมละ แล้วหากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือคนในองค์กรอิสระเป็นพวกเดียวกันหมดละ แล้วหากเกิดการกินรวบทั้งระบบเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาละ ?? ผมก็ได้แต่ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิคุ้มครองประเทศไทยให้สงบสุขอย่างให้เกิดความรุนแรง และหวังลึกๆว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะยังคุ้มครองสิทธิไม่น้อยกว่าที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ผมคิดและร่ำเรียนมาคงเป็นศูนย์สำหรับสังคมไทย

06 September 2006

พวกโซฟิสต์ต่างจากโสกราตีสอย่างไร?

โสกราตีสมีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับพวกโซฟิสต์ โซฟิสต์คือคนที่ขายความรู้ ออกแสวงหาความรู้ไปในที่ต่างๆ หากพูดในภาษาปัจจุบันก็คือเป็นครูหรืออาจารย์นั้นเอง โซฟิสต์จะหากินกับความรู้เล็กๆน้อยๆที่ตนมีอยู่และมักคิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้ปราดเปรื่องรอบรู้ ในสมัยกรีกนั้นประชาธิปไตยเป็นตัวที่กระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวในการแสวงหาความรู้ให้แก่ตน ในขณะที่ความรู้ของพวกโซฟิสต์เกิดจากการใช้สมองคิดและสืบทอดกันมา ในหมู่นักปราชญ์ชาวกรีกก็มีแกะดำอยู่นั้นก็คือ โสกราตีส
เขาจะทำเป็นไม่รู้อะไรเลย และถามผู้ที่สนทนาด้วยให้คิดเอง และไตร่ตรองหาคำตอบเอง โสกราตีสจะบังคับให้ต้องใช้สามัญสำนึกเมื่อคุยกับเขาเพราะนั้นคือการคิดได้เองหรือณานประเภทหนึ่ง โสกราตีสเปรียบตนเองเป็นหมอตำแย คือหมอตำแยไม่ได้เป็นคนคลอดแต่จะเป็นผู้ที่ช่วยให้การคลอดลุล่วงไปได้โดยสะดวก ณานทัศนะที่ถูกต้องก็คือความเข้าใจที่แท้จากภายใน ไม่ใช่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้อื่น สิ่งที่โสกราตีสต่างจากพวกโซฟิสต์อย่างมากก็คือ เขาไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นพวกโซฟิสต์ ไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นผู้ปราดเปรื่องหรือสอนหนังสือเพื่อแลกเงินแลกทอง ไม่เป็นครูและผู้ดีที่ปลื้มอกปลื้มใจกับความรู้ที่มีเพียงน้อยนิดของตัวหรือพวกที่ชอบโออวดว่ารู้เรื่องนี้เรื่องนั้นดีทั้งๆที่จริงๆไม่รู้อะไรเลย โสกราตีสคือปราชญผู้รู้เพียงสี่งเดียวว่า "เขาไม่รู้อะไรเลย" ตรงนี้ละครับที่ผมเห็นว่าโสกราตีสกับคำสอนของพระพุทธเจ้าตรงกัน ชาวพุทธเรามีกาลามสูตรที่เป็นหลักไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ สิ่งที่จะเชื่อได้ก็ต้องมาจากการไตร่ตรองจากตน นอกจากนั้นสิ่งที่คิดว่ารู้จริงๆคือไม่รู้ และการที่คิดได้ว่าตนเองไม่รู้ก็คือการรู้แจ้งอย่างหนึ่ง เป็นแก้วใบเปล่าที่สามารถใส่อะไรลงไปก็ได้ ไม่ใช่ แก้วที่มีน้ำเต็มแก้ว มาถึงจุดนี้ผมคิดว่าปรัชญาในยุคโบราณนั้นมันมีความร่วมสมัยอยู่ไม่ว่าจะเป็นของตะวันตกหรือตะวันออก จุดร่วมนั้นก็ดือความจริงในฐานะที่เป็นอกาลิโกและความจริงชั่วขณะ