21 September 2006

ประชาธิปไตย ประชารัฐ กับ นิติรัฐประหาร

ก่อนอื่นขอไวอาลัยให้กับรัฐธรรมนูญไทย ปี40 รธน.ฉบับที่เมื่อ 7 ปีก่อนมีคนออกมาสรรเสริญว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่ดีที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้มากที่สุดอีกด้วย บัดนี้ถึงวาระสุดท้ายของความรุ่งโรจน์ในรัฐธรรมนูญนิยมไปแล้ว ทางหนึ่งผมเสียดายสิ่งที่ร่ำเรียนมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ยังเอามาใช้ได้ไม่ถึง 4 เดือน รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกซะแล้ว อีกทางก็ดีใจที่ปัญหาบ้านเมืองที่เรื้อรังมาเกินครึ่งปีกำลังจะหมดลง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี concept หลักๆคือ รับรองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย สร้างเสถียรภาพให้กับการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง วางระบบสิทธิพื้นฐานที่คนไทยควรได้รับจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล การแสดงออกซี่งความคิดเห็นและเหนือสิ่งอื่นใดคือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งประการหลังนี้ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำได้ดีมาก ดังจะเห็นได้จากกรณีการชุมนุมประท้วงขับไล่นายกฯที่ผ่านมา กรณีอย่างนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากรัฐธรรมนูญไม่ได้วางหลักเช่นนั้นไว้ ผมก็ไม่แปลกใจเลยที่จะมีพรรคการเมืองแบบไทยรักไทยขึ้น การเมืองที่ผูกกับกลุ่มทุนนิยมใหม่ที่มีฐานจากรากหญ้า ก็รัฐธรรมนูญมันเขียนไว้ชัดในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หากพรรคอื่นๆจะสนใจกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้บ้างแล้วนำมันมาเป็นนโยบายของพรรค ไม่เล่นการเมืองแบบที่เคยเป็นมาในอดีต ผลก็จะออกมาในทำนองเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยทำ ผมขอพักไม่กล่าวถึงในเรื่องนี้ก็แล้วกันนะครับ สิ่งที่อยากจะเขียนในวันนี้คือเรื่องวุฒิภาวะทางการเมืองของคนไทย
ประชาธิปไตยคืออะไร เป็นคำถามที่สำคัญที่ทุกๆคนควรจะถามและเข้าใจก่อนจะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สำหรับผมตอบง่ายๆก็คือการที่การปกครองจากคนส่วนใหญ่ในสังคม แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือคนส่วนใหญ่ในสังคม ผมก็เห็นว่าเราจะรู้ได้โดยอาศัยการเลือกตั้งจากประชาชน ผลคือเราได้คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำการบริหารบ้านเมือง อันนี้เป็นแนวคิดง่ายๆสำหรับคำว่าประชาธิปไตย ผมจะถามต่อไปว่าแล้ว คำว่าประชาธิปไตยกับคำว่า รัฐธรรมนูญนิยมมันเหมือนกันหรือไม่ สำหรับผมมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญนั้นมันมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน กล่าวคือเป็นกฎหมายสูงสุดสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเปล่า ฉบับล่าสุดปี40 นี้ผมเห็นว่าเป็นเพราะ คนส่วนใหญ๋ของประเทศเป็นคนยากจน เกษตรกร พวกเขาต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ใช่ให้สวัสดิการแก่เฉพาะคนระดับกลางและสูงเท่านั้น แล้วคำถามว่าประชาธิปไตยจะมาได้จากผู้มีอำนาจได้หรือไม่ จริงๆแล้วสำหรับประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้นโดยเริ่มจากคณะราษฎร์ปฏิวัติ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ ตอนเริ่มต้นก็ไม่มีประชาราษฎร์เข้าไปมีส่วนร่วมซักเท่าไร มันไม่เหมือนกับประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสที่คนทั้งประเทศลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้านกษัตริย์ กลับกันคนที่อยากได้ประชาธิปไตยคือคนที่มีกำลังทหารอยู่ในมือ ดังนั้นประชาธิปไตยที่เราได้มาเลยเป็นประชาธิปไตยของทหาร แบบทหาร และเพื่อทหาร ลักษณะสำคัญก็คือหากมีปัญหาทางการเมืองที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็ทำการรัฐประหารเพื่อยุติปัญหา ต่อมาเมื่อนักการเมืองมาจากพลเรือนทางออกก็มีมากขึ้นมาเป็นการยุบสภา สิ่งที่เกิดขึ้นในคราวนี้ผมไม่รู้ว่ามันเป็นการถอยหลังลงคลองหรือว่าเป็นการที่อำนาจคืนสู่ทหารซึ่งเป็นเจ้าของแต่เดิมกันแน่
วงจรอุบาทว์(อย่างที่หลายๆคนเรียกกัน แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นเพราะมันคือการเมืองแบบทหาร) ได้กลับคืนมาสู่ระบบการเมืองอีกครั้ง กลับมาเพื่อเป็นทางออกให้กับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่อแร่งบิดไปบิดมา หากแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อการเมืองไทยและเป็นทางออกให้กับวิกฤติศรัทธาของนักการเมืองและระบบการเมืองแบบทุนนิยม ผมก็ยังคิดว่ามันเร็วเกินไปที่จะใช้วิธีนี้ เพราะ
1. ในเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และเราเรียกการปกครองของเราว่าประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหาก็ควรจะแก้ไปที่รัฐธรรมนูญ แก้ไปที่กฎหมายไม่ใช่ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่
2. การใช้กำลังเข้าแก้ปัญหาบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะความขัดแย้งยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ยังอยู่ในขั้นขู่กันไปกันมาอยู่เราก็ลงดาบเสียแล้ว หากรอให้เลือกตั้งเสร็จ หรือให้กลุ่มพันธมิตรฯประท้วงจนเกิดความรุนแรงก่อนแล้วค่อยรัฐประหาร ผมว่าจะมีความชอบธรรมมากกว่าทั้งในสายตาของต่างประเทศและในสายตาของนักกฎหมาย
3. สังคมที่เจริญแล้วเขามักยุติปัญหาด้วยการใช้องค์กรศาล ด้วยการเจรจา ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลัง หากเรามีกติกาแล้วไม่เคารพ ต่างคนก็ต่างจะทำสิ่งที่ตนต้องการสุดท้ายอำนาจเถื่อนก็จะกลับมา
ผมก็ได้แต่หวังว่าสิ่งที่ทหารทำจะเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว หากมีเจตนาแอบแฝงประเทศชาติคงจะเสียหายอย่างไม่ได้สัดสวน สิ่งที่น่ากลัวคือในขณะนี้เราไม่มีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของประชาชน ทหารจะทำอะไรก็ได้ ตอนนี้ทหารจะทำอะไรก็ไม่มีใครตรวจสอบ หากมีการยึดทรัพย์แล้วเงินไม่ได้เข้าคลังละใครจะเป็นผู้บังคับให้มันถูกต้อง แล้วถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้รับรองสิทธิที่เคยมีอยู่เดิมละ แล้วหากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือคนในองค์กรอิสระเป็นพวกเดียวกันหมดละ แล้วหากเกิดการกินรวบทั้งระบบเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาละ ?? ผมก็ได้แต่ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิคุ้มครองประเทศไทยให้สงบสุขอย่างให้เกิดความรุนแรง และหวังลึกๆว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะยังคุ้มครองสิทธิไม่น้อยกว่าที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ผมคิดและร่ำเรียนมาคงเป็นศูนย์สำหรับสังคมไทย

2 comments:

PuMppz said...

คำว่าประชาธิปไตย...
กับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร...

แล้วประชาธิปไตยของไทย
ผู้เขียนเห็นพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ หรือไม่

Tier Etat said...

ประชาธิปไตย คือการปกครองโดยประชาชน
ส่วนว่ามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นก็หมายความว่าเป็นประมุขแต่ไม่ได้ปกครอง เพราะหากกษัตริย์ลงมาปกครองด้วยพระองค์เองแล้ว หาจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้ไม่
อนึ่งท่านว่าเป็นราชาธิปไตยคือการปกครองโดยราชา

ส่วนกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์หรือไม่ จริงๆแล้วก็อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐธรรมนูญเก่าๆที่ผ่านมาก็กำหนดให้ทรงอยู่เหนือการเมือง และต้องเป็นกลาง ดังนั้นพระองค์จึงไม่ควรลงมาคลุกธุลีการเมืองอันจะทำให้สถาบันกษัตริย์แปดเปื้อนไปด้วยสิ่งโสโครก

เท่านี้หวังว่าคงพอได้ความ